วันนี้มารีวิวอุปกรณ์ Zigbee ตัวล่าสุดจาก SONOFF กันอีกแล้ว ดูเหมือนกลยุทธ์จาก SONOFF จากปูพรมด้วยอุปกรณ์ Zigbee ที่หลากหลายแบบมากในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เราจะทำการรีวิว SONOFF Zigbee Bridge Ultra (ZBBridge-U) ซึ่งเป็น Zigbee Bridge ที่เราเชื่อว่ามันน่าจะมาแทน Zigbee Bridge (2020) และ Zigbee Bridge Pro (2022) ในที่สุด และมากกว่านั้นคือมันไม่ใช่แค่ Zigbee Bridge ธรรมดาแต่ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์อื่นๆด้วย เช่น Matter Bridge นอกจากนั้นตัวถัดไปที่เราจะทำการรีวิวคือ SONOFF Micro Zigbee USB Adapter ซึ่งจะมาเป็นทางเลือกสำหรับท่านที่ชอบ form factor แบบ USB นี้แต่ใช้โปรโตคอล Zigbee เรามาดูในรายละเอียดกันในแต่ละตัวกัน
SONOFF Zigbee Bridge “Ultra”
เราขอเรียก SONOFF Zigbee Bridge “Ultra” สั้นๆว่า Ultra ในรีวิวนี้ ถ้าเปรียบเทียบสเปคของตัว Ultra กับรุ่นก่อนคือรุ่น Zigbee Birdge Pro เราจะเห็นการก้าวกระโดดในฟีเจอร์และฮาร์ดแวร์สเปค ไม่ว่าจะเป็นชิปที่แรงกว่ามาก (RV1109 v.s. ESP32) หน่วยความจำ (1GB) และที่เก็บข้อมูล (8GB) ที่เหลือเฟือ ไม่เแปลกใจที่มันสามารถรองรับอุปกรณ์ Zigbee ได้มากขึ้นเท่าตัวจาก 128 เป็น 256 และรองรับฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นเช่น Matter Bridge นอกจากนี้ยังมีพอร์ตแลนให้เราต่อเข้ากับเครือข่ายนอกเหนือจาก Wifi เพื่อเพิ่มความเร็วในการตอบสนอง ลองมาดูตารางเปรียบเทียบกัน
อีกอย่างนึงที่ต้องกล่าวถึงคือชิปสำหรับสื่อสารกับอุปกรณ์ IOT เจ้าตัว Ultra มาพร้อมกับชิป EFR32MG21 จาก Silicon Labs ซึ่งเป็น multi protocol ที่ความถี่ 2.4GHz มันทำได้ทั้ง Zigbee, Thread และ Bluetooth แต่ตัว Ultra ตอนนี้ยังไม่สามารถสื่อสารผ่านโปรโตคอล Thread ได้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันจะถูกอัพเกรดในภายหลังหรือไม่ อย่างไรก็ตามถ้าเทียบกับรุ่น Pro ที่ใช้ชิป CC2652P ก็จะเหนือกว่าหลายขุม เรายังได้เห็น option ที่ทำให้เจ้า Ultra สื่อสารผ่าน Zigbee ได้ไกลขึ้นผ่าน Turbo Mode ซึ่งเราจะมาทำการทดสอบระยะทางกันในรีวิวนี้ด้วย
มาแกะกล่องกัน
ขนาดของ Ultra จะใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ ภายในกล่องมาพร้อมคู่มือ สาย USB-C และ สายแลน ซึ่งแตกต่างจะรุ่นพี่ที่ต้องต่อผ่าน Wifi เท่านั้น มีปุ่มกดเล็กไว้สำหรับติดตั้ง มี LED พอร์ต USB-C พอร์ตแลน และลำโพงที่อยู่ด้านล่างของตัวเครื่อง
มาแกะดูข้างในกัน
ภายใน Ultra นั้นมันมีอะไรมากกว่าที่เราคิด คือเทียบกันไม่ได้เลยกับรุ่น Pro เดิมที่ใช้แค่ชิป ESP32 และอัพเกรดอะไรไม่ได้เลย แต่นี่มี Rockchip RV1109 dual-core พร้อม 1GB RAM ซึ่งเป็นชิปตัวเดียวกับ iHost ตัวต่ำสุดที่เราเคยรีวิวไปแล้วทีเดียวแต่ในราคาที่ถูกกว่าเกือบครึ่งต่อครึ่งเลย เราคาดว่า Ultra น่าจะถูกเพิ่มฟีเจอร์ในอนาคตแน่นอนเพราะมีฮาร์ดแวร์ที่พร้อมและสนับสนุนอัพเกรดทาง OTA
จากรูปด้านล่างเราจะเห็นชิป Wifi ของ FN Link 6223 SRD และชิปจัดการพอร์ต Ethernet RTL8201F จาก RealTek ซึ่งเป็นอีกจุดนึงที่แตกต่างจาก Zigbee Bridge รุ่นพี่ที่ทำงานผ่าน Wifi เท่านั้น
สเปค
- SoC – Rockchip RV1109 dual-core Arm Cortex-A7 @ 1.5 GHz พร้อม RISC-V MCU @ 400 MHz, 2D graphics engine, NPU 1.2 TOPS, การถอดรหัสและการเข้ารหัสวิดีโอฮาร์ดแวร์ H.264 และ H.265 5MP
- หน่วยความจำระบบ – DDR4 1GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล – eMMC flash ขนาด 8GB สำหรับระบบปฏิบัติการ
- การเชื่อมต่อ
- พอร์ต Ethernet RJ45 ความเร็ว 10/100M
- WiFi 4 2.4GHz
- Zigbee 3.0 ผ่าน Silicon Labs EFR32MG21 SoC รองรับระยะสูงสุด 200 เมตรในโหมด Turbo
- ทำหน้าที่เป็น Zigbee to Matter Bridge
- อื่น ๆ
- ปุ่ม
- กดค้างไว้ 3 วินาที: เข้าสู่โหมดจับคู่ (สูงสุด 30 นาที)
- กดค้างไว้ 10 วินาที: รีเซ็ตเป็นค่าโรงงาน
- กดปุ่มเดียว: ออกจากโหมดจับคู่หรือยกเลิกการแจ้งเตือน
- ไฟ LED สามสี
- ปุ่ม
- การจ่ายไฟเลี้ยง – 5V/1A ผ่านพอร์ต USB Type-C
- ขนาด – 82 x 82 x 28 มม. (โครงพลาสติก PC+ABS)
- น้ำหนัก – 92.5 กรัม
- ช่วงอุณหภูมิ – -10 ถึง +40°C
- ความชื้น – 5% ถึง 95% RH ไม่ควบแน่น
- การรับรอง – CE/FCC/ISED/RoHS
- มาตรฐานความปลอดภัย – EN 62368-1
การใช้งานกับ eWeLink
SONOFF Zigbee Bridge รุ่นธรรมดา, รุ่น Pro และ Ultra ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้ใช้งาน eWelink จริงๆ เพราะถ้าหากคุณเอาไปใช้ในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นใน Home Assistant (ผ่าน Integration) คุณจะไม่ได้เห็นอะไรมากกว่าเป็อุปกรณ์ธรรมดาตัวนึงถึงแม้บางรุ่น เช่น Ultra นี้จะมีลำโพงมาแต่เราก็ไม่สามารถเอามันไปใช้งานได้ นอกจากนี้ตัว Ultra ใช้ชิปที่ไม่ใช้ตระกูล ESP ทำให้มันไม่สามารถเอาไปแฟลชไปใช้ซอฟแวร์อื่นอย่างง่าย ดังนั้นในรีวิวนี้เราก็จะเน้นไปที่ eWeLink ซึ่งเป็นแอปหลักของ SONOFF เท่านั้น
วิธีการลงทะเบียน Ultra เข้าไปใน eWeLink ก็จะเหมือนอุปกรณ์ SONOFF ทั่วๆไปโดยการกดปุ่ม “+” ที่หน้าแรกของแอป ขณะเดียวกันให้กดปุ่มที่ตัวเครื่อง Ultra ค้างจนกระทั่งไฟกระพริบ แล้วเราก็จะเห็นตัว Ultra โชว์อยู่ในจอพร้อมให้เราเลือก ดูขั้นตอนตามรูปด้านล่างประกอบไปด้วยเลย
หลังจากที่ Ultra เข้าไปอยู่ eWeLink แล้ว เราก็สามารถเพิ่มอุปกรณ์ Zigbee เข้าไปได้ โดย ณ ปัจุจบัน Ultra จะสนับสนุนอุปกรณ์ Zigbee ของ SONOFF เท่านั้นซึ่งก็มีหลากหลายให้เลือก เช่น เซนเซอร์ SNZB-06P human presence, ZBMINIL2 Zigbee switch, S26R2ZB smart plug, SNZB-03P Zigbee motion sensor, Smart USB Adaptor
ทดสอบระยะทางที่ไกลขึ้นด้วย Turbo Mode
จุดเด่นอันนึงที่ SONOFF เคลมว่าตัว Ultra สามารถส่งสัญญาณ Zigbee ไปได้ไกลมากขึ้นถ้าหากเปิดโหมด Turbo Mode ซึ่งในสภาวะห้องแล็ปอ้างว่าได้ไกลถึง 200m ทีเดียว เราก็ไม่รอช้าพยายามหาที่ทดสอบเพื่อดูว่ามันไปได้ไกลขนาดไหนในสิ่งแวดล้อมที่ต่างๆกัน เจ้า Turbo Mode จะอยู่ใน Device Setting ซึ่งจะไม่ถูกเปิดใช้งานโดยอัตโนมัติ เราต้องเข้าไปเปิดเองตามรูป
หลังจากนั้นเราได้ทำการทดสอบระยะ อุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มเติมคือ คือ SNZB-01P (ปุ่มกดไร้สายแบบ Zigbee) มา Pair เข้ากับตัว Ultra แล้วทำการทดลองในสองรูปแบบ คือ
1) ทดสอบระยะที่อุปกรณ์ Ultra และ SNZB-01P ยังเห็นกันอยู่ เราได้วาง Ulrta บริเวณกลางแจ้งตรงถนน แล้วค่อยๆเดินเอา SNZB-01P ห่างออกไปเรื่อยๆตามถนน ทำการกดเป็นระยะๆ เราได้เขียน Scene ง่ายๆขึ้น คือเมื่อ Ultra ได้รับสัญญาณกดปุ่มก็จะมี Notification มาที่มือถือเราที่มี eWeLink เพื่อบอกว่ามันยังติดต่อกันได้ เมื่อใดที่เรากดแล้วไม่มี Notification มาก็ถือว่าสัญญาณไม่ถึง ผลปรากฏว่าได้ระยะถึง 100เมตร อ้างอิงจาก Google Map โดยที่เราไม่ได้ใช้ Zigbee Repeater หรือ Zigbee Router ใดๆ ดูตามรูปด้านล่าง
2) ทดสอบระยะที่อุปกรณ์ Ultra และ SNZB-01P ผ่านสิ่งกีดขวางซึ่งจำลองคล้ายๆกับบริเวณบ้านของผู้ใช้จริง เราได้วาง Ultra ไว้ข้างกำแพงนอกบ้าน แล้วเดินอ้อมบ้านห่างจาก Ultra ออกมา ซึ่งสัญญาณ Zigbee จะต้องเดินทางผ่านกำแพงหลายชั้น วิธีการวัดก็เหมือนเดิมคือกดปุ่มเป็นระยะๆแล้วดูการตอบสนองจาก Notification เมื่อใดที่กดแล้วไม่มี Noti มาถือว่าสิ้นสุด ผลปรากฏว่า (ดูรูปด้านล่าง) สัญญาณสามารถผ่านกำแพงคอนกรีต 4 ชั้น และมีกำแพงกระจกอีก 2 ชั้น โดยกำแพงคอนกรีตนั้นเป็นแบบ double wall เราได้ระยะประมาณ 20เมตร แน่นอนหากนำไปใช้จริงตามบ้านเรือนต่างๆก็น่าจะให้ผลที่ต่างกันไป แต่การทดลองนี้ให้อยากให้เห็นภาพถึงประสิทธิภาพของ Turbo Mode ว่าทำให้สัญญาณ Zigbee ไปได้ไกลมากกว่าเดิมเพียงใด เราเชื่อว่า Turbo Mode นี้สำคัญกับผู้ใช้ เหตุผลเพราะว่า ระยะทาง และจำนวนของอุปกรณ์ ที่ผู้ใช้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเยอะในอนาคตเนื่องจากความนิยมของ Smart Home มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการสร้างเครือข่าย Zigbee ที่มีประสิทธิภาพและราคาไม่แพงจึงจำเป็นกับเหล่า Smart Home
การทำงานเป็น Matter Bridge
ฟีเจอร์ถัดมาที่เราทดลองคือ การทำ Matter Bridge โดยตัว Ultra เอง หลักๆคือต้องการให้อุปกรณ์ Zigbee ของ SONOFF ไปโผล่ในแพลตฟอร์มอื่นๆที่สนับสนุน Matter เช่น Google Home, Apple Home, Alexa, SmartThing แน่นอนฟีเจอร์ Matter Bridge ใน Ultra นี้คือตัวแปลงเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัว Matter Hub / Controller แต่อย่างใด ดังนั้นก่อนการใช้งานในฟีเจอร์นี้ ผู้ใช้ต้องหา Matter Hub ของค่ายนั้นมาด้วย เช่น ถ้าอยากให้ Apple Home แอปเห็นก็ต้องมีอุปกรณ์ของค่าย Apple ที่ทำตัวเป็น Matter Hub เช่น HomePod, Apple TV เป็นต้น แล้วเช่นกันถ้าเป็นค่าย Google ก็ต้องมี Matter Hub ของเค้าเอง เช่น Google Nest Mini เป็นต้น
ก่อนเริ่มใช้ Matter Bridge เราต้องมาเริ่มที่ eWeLink โดยเข้าไปที่ Devices Setting / Matter และกด + เพื่อทำการติดตั้ง และทำการ Copy Pairing Code เพื่อไปกรอกในขั้นตอนการ Setup ของ Apple Home หรือ แพลตฟอร์ม Matter อื่นๆต่อไป จากภาพตัวอย่างด้านล่างเราได้ทำการเพิ่มอุปกรณ์ Zigbee ไปสองตัวแล้วนั่นคือ Windows/Door และ Micro USB Smart Adapter
หลังจากนั้นเราได้เลือก Apple Home ขึ้นมาทดลอง โดยทำการเพิ่มอุปกรณ์จากแอป Home ในมือถือ iPhone ขั้นตอนจะอยู่ในภาพด้านล่าง เมื่ออยู่ใน Apple Home หน้าแรก ให้กด + และ การเพิ่ม Accessory ให้เลือกแบบ More Option ที่จะนำเราไปสู่การเลือกอุปกรณ์และใส่ Pairing Code
หลังจากนั้น Apple Home จะเห็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใต้ Ultra ซึ่งเราก็กรอกข้อมูลรายละเอียดของแต่ละตัวไป เช่น ชื่อ ตำแหน่งของอุปกรณ์ และชนิด ซึ่งมันก็พร้อมที่จะทำงานภายใต้ Apple Home เช่น สร้าง Automation จากอุปกรณ์ Matter พวกนี้ที่ทำผ่าน Ultra
และขั้นตอนที่เราเห็นกับ Apple Home ด้านบนก็จะคล้ายๆกันกับใน Google Home เพราะมันเป็นแนวทางของ Matter ที่ทำให้เรื่องซับซ้อนมันง่ายขึ้น เป็นมาตรฐานมากขึ้นสำหรับเหล่า Smart Home เราคิดว่า Matter Bridge เป็นฟีเจอร์ที่ดี เพราะมันสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้งาน ด้วยความสามารถของฮาร์แวร์ที่ Ultra มีมาให้ เราคาดหวังว่าคงจะได้เห็นฟีเจอร์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาในอนาคตผ่านซอฟแวร์อัพเกรด (OTA) คล้ายๆกับที่เราเห็นและรีวิวเจ้าตัว iHost ไปเพราะว่ามันตั้งอยู่บนพื้นฐานสถาปัตยกรรมเดียวกัน
การทำงานเป็น Smart Speaker ในตัว
เราเริ่มจะเห็นพวก Hub ต่างๆทำงานได้มากกว่าหนึ่งหน้าที่มากขึ้นเรื่อยๆในท้องตลาด และเราก็เชื่อว่ามาเป็นความคิดที่ดีที่จะมีลำโพงเพื่อให้การทำงานของ Smart Home สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะสร้างเสียง Alarm, Doorbell หรือ Alert เราเคยเห็นฟีเจอร์นี้ในตัว iHost ไปแล้ว และคราวนี้ Ultra ที่ราคาถูกลงมาก็ทำได้เช่นกัน
นอกเหนือจากฟีเจอร์การเป็น Zigbee Hub และ Matter Bridge แล้ว สาวกของ eWeLink สามารถใช้งานตัว Ultra ซึ่งมีลำโพงในตัวเพื่อมาทำเป็นโหมดการแจ้งเตือนแบบง่ายๆ โดย eWelink เรียกว่า Smart Securty มีสามแบบคือ Home Mode, Away Mode และ Sleep Mode ซึ่งแต่ละโหมดเราสามารถกำหนดรายละเอียดที่ต่างกันได้ เช่น เราสามารถกำหนด Away Mode ซึ่งถ้าเราเปิดโหมดนี้แล้ว มันจะทำงานกับบางเซ็นเซอร์ที่เรากำหนดเท่านั้น พร้อมทั้งมีเสียงเฉพาะ หรือมีข้อความ Notification เฉพาะ จากรูปตัวอย่างด้านล่างเรากำหนดให้ SNZB-04P ซึ่งเป็น Door Sensor มาเป็นตัวเป็นตัว Trigger ถ้าเงื่อนไขเป็นจริงก็ส่งเสียง Alarm แบบที่ 1 เป็นเวลา x วินาที ที่ระดับความดัง 50%
หลังกำหนดค่าด้านบนเสร็จ ตอนทำงานจริง เมื่อเราเปิดโหมด Away Mode (Armed) และ Door Sensor ทำงาน เสียง Alarm1 ก็จะถูกเล่น พร้อมกับมีการส่ง Notification ออกมาที่มือถืออัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องไปเขียน Scene ใดๆ มันการใช้งานที่ง่ายมากๆ อย่างไรก็ตาม หากเราเขียน Scene ขึ้นมาก็สามารถทำได้ตามปกติและพลิกแพลงได้มากขึ้นเช่นกัน
การทำงานร่วมกับ Home Assistant
อย่างที่กล่าวไว้ด้านบน เราได้ทดสอบเอาตัว Ultra เข้า Home Assistant แบบผ่าน Integration และพบว่าตัว Ultra จะเป็นแค่ทางผ่านของอุปกรณ์ Zigbee ไปที่ Home Assistant เท่านั้น เราไม่เห็น Entity ใดๆเป็นพิเศษจากตัว Ultra เอง และ SONOFF ก็ยังไม่มีแผนที่จะทำอะไรเพิ่มเติมในจุดนี้ เช่น การสร้าง entity ของลำโพงใน Ultra มาใช้งาน ถ้ามีมันจะเยี่ยมยอดทีเดียวเพราะเราไม่ต้องไปซื้อ Smart Speaker มาสร้างเสียงเพิ่มเติมนั่นเอง
ผู้ใช้งานมีทางเลือกแบบนี้คือ ถ้าผู้ใช้งานต้องการเอาเซ็นเซอร์ Zigbee จาก SONOFF ไปใช้ใน Home Assistant ก็ให้เอาเข้าตรงๆผ่าน ZHA และ Zigbee2MQTT จะสะดวกที่สุด (โดยไม่ต้องมี Ultra) อย่างไรก็ตามทางเลือกเอาเข้าผ่าน AlexxIT integration (มี Ultra) ก็ยังทำได้เหมือนเดิมถ้าต้องการและได้ฟีเจอร์ที่มากกว่า ในกรณีที่ผู้ใช้งานไม่ได้ใช้ Home Asssitant แต่ใช้ eWeLink เป็นหลัก เราต้องลงทะเบียนกับ eWeLilnk และใช้ Ultra เป็น Zigbee Hub อย่างที่เราได้รีวิวไปข้างต้นนั่นเอง
SONOFF Micro Zigbee USB Smart Adaptor
ตอนที่เราได้รับ SONOFF Micro Zigbee USB Smart Adaptor (จะเรียกสั้นๆว่า ZBMicro) มา เราก็คิดอยู่ว่า form factor แบบนี้จะพัฒนาอะไรได้อีกนอกเหนือจากรุ่นแรกที่ใช้ Wifi แต่พอได้ลองใช้งานไปได้สักพักเราก็คิดว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เลวทีเดียว นอกจากจะทำตัวเป็น USB Switch เปิดปิด มันยังสนุบสนุน Fast Charging, Data Transfer และยังเป็น Zigbee Router ได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นๆได้ตามมาตรฐาน Zigbee 3.0 เท่าที่ดูในตลาดมาอุปกรณ์คู่แข่งของ ZBMicro ที่มีลักษณะคล้ายๆกันไม่สามารถทำ Fast Charging หรือ หรือเป็น Switch ได้ และมันก็เป็นฟีเจอร์ที่ทำให้น่าสนใจกว่าคู่แข่งในราคาที่ใกล้เคียงกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นพี่ก่อนหน้านี้ จะเห็นว่ามีการเพิ่มเติมฟีเจอร์มากขึ้นพอสมควร เช่น
- รุ่น Wifi ทำได้แค่ชาร์จ 5V ต่างจาก ZBMicro ที่ได้แรงดันไฟฟ้าสูงขึ้นสำหรับทำ Fast Charging ที่ระดับ 22V หรือพลังงานไฟได้ถึง 36w
- รุ่น Wifi ทำหน้าที่ป้อนไฟได้อย่างเดียว ไม่สามารถส่งข้อมูลผ่านได้เหมือนกับ ZBMicro ที่สนับสนุน USB2.0
- รุ่น Wifi ไม่สามารถขยายสัญญาณได้ แต่ ZBMicro ทำเป็น Zigbee Router ได้ ทำให้การสร้างเครือข่าย Zigbee ในบ้านทำได้โดยใช้เงินลงทุนที่ไม่มากหากเปรียบกับการทำลักษณะเดียวกันกับ Wifi
- ปลีกย่อยของฟีเจอร์ในซอฟแวร์ เช่น Inching แบบ Auto On ซึ่งเราจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไปกัน
มาแกะกล่องกัน
ภายในกล่องที่เล็กมากมีแค่คู่มือกับตัว Adaptor ขนาดจิ๋ว มีช่อง USB ที่สามารถเสียบอุปกรณ์ด้านหลังเป็นแบบ USB Type A (มันน่าเสียดายที่เราไม่ได้เห็น USB Type C มาด้วย) มีปุ่มเล็กสำหรับการติดตั้ง และ LED เล็กๆเพื่อแสดงสถานะการ pairing และเที่ยวนี้เราไม่แกะไปดูภายใน แต่การนำชิป EFR32MG21 มาใช้เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ Zigbee ใหม่ๆตัวอื่นทำให้เราคิดว่าการทำงานสื่อสารกันน่าจะเสถียรขึ้น
ตัว ZBMicro สามารถใช้งานร่วมกับ Zigbee Hub ที่เป็นมาตรฐาน Zigbee 3.0 จาก SONOFF เองและของค่ายอื่นๆต่างแพลตฟอร์มเช่น Amazon Echo Plus 2nd, Philips Hue, and SmartThings hub V3 รวมไปถึงโอเพ่นซอสยอดนิยมหลายค่าย เช่น Home Assistant, Zigbee2MQTT และ openHAB แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้ Zigbee USB Dongle จาก SONOFF เช่น SONOFF ZBDongle-P/ ZBDongle-E เป็น Zigbee Coordinator เท่านั้น เดี๋ยวเราจะมาลองดูกัน
สเปค
- Wireless MCU – Silicon Labs EFR32MG21
- MCU core – ไมโครคอนโทรลเลอร์ Arm Cortex-M33 @ 80 MHz
- หน่วยความจำ – SRAM ขนาด 96KB
- พื้นที่เก็บข้อมูล – flash 352KB, ROM 1024KB สำหรับโปรโตคอลและฟังก์ชันไลบรารี
- Wireless – Zigbee 3.0
- USB – พอร์ต USB 2.0 Type-A
- อื่น ๆ
- ปุ่มผู้ใช้ – กดเพียงครั้งเดียว: เปิด/ปิดอุปกรณ์อัจฉริยะ, กดค้างไว้ 5 วินาที: อุปกรณ์จะเข้าสู่โหมดจับคู่
- ไฟ LED แสดงสถานะของเครือข่าย (สีเขียว) – ติดและค้างไว้: การเชื่อมต่อปกติกับเกตเวย์, กระพริบช้า : อุปกรณ์อยู่ในโหมดจับคู่, กระพริบเร็ว: การเชื่อมต่อผิดปกติกับเกตเวย์
- ไฟ LED แสดงสถานะ Power (สีแดง)
- แหล่งจ่ายไฟ
- ช่วง 5 ถึง 22V สูงสุด 4.6A
- กำลังไฟพิกัด – 36W MAX (พร้อมอะแดปเตอร์ QC 3.0)
- รองรับ QC 3.0, FCP, SCP, PE, AFC, Apple 2.4A
- ขนาด – 33 x 31 x 26.5 มม.
- น้ำหนัก – 17.6 กรัม
- วัสดุห่อหุ้ม – PC
- ช่วงอุณหภูมิ – -10°C ถึง 40°C
- ความชื้น – 5-95%RH ไม่ควบแน่น
- การปฏิบัติตามข้อกำหนด – CE, FCC, ISED, RoHS
- ความปลอดภัย – EN IEC 62368-1
การทำงานร่วมกับ eWeLink
ขั้นตอนการเพิ่ม ZBMicro ก็ไม่ต่างจากอุปกรณ์ Zigbee อื่นๆของ SONOFF แน่นอนคุณต้องมี Zigbee Hub ติดตั้งอยู่ก่อน SONOFF มี Zigbee Hub หลายแบบหลายราคาให้เลือก เช่น SONOFF Zigbee Bridge, Zigbee Bridge Pro และล่าสุดที่ตัวที่เรารีวิวในบทความนี้ด้วยคือ Zigbee Bridge Ultra ภาพด้านล่างจะเป็นขั้นตอนการลงทะเบียน ZBMicro ใน eWeLink
เมื่อทำการเพิ่มอุปกรณ์เข้าไปใน Zigbee Hub นั้นเสร็จ เราก็สามารถเริ่มใช้งาน ZBMicro ได้ตามปกติเหมือน Smart Switch ทั่วๆไปคือเปิดปิด แต่สิ่งที่อยากจะ highlight เพิ่มเติมสองสามอย่าง ก็คือ
Turbo Mode ซึ่งการทำงานมันก็คือเพิ่มความแรงของสัญญาณ Zigbee ในกรณีเอาไปทำเป็น Router ที่ผ่านมาเราจะไม่เห็น Turbo Mode ในอุปกรณ์ Zigbee รุ่นเก่าๆของ SONOFF แต่ตอนนี้เริ่มทยอยมาให้เห็นกัน เช่นเดียวกับ Ultra ที่เราเพิ่งจะกล่าวถึงไป
ถัดมาคือฟีเจอร์ Inching ที่เราคุ้นเคยกันดี โดยปกติแล้วอุปกรณ์ SONOFF ทั่วๆไปผู้ใช้งานน่าจะมีโอกาสได้ใช้ Inching มันก็เสมือนมีตัวนับถอยหลังเพื่อ Auto-Off อุปกรณ์ภายในเวลาที่กำหนด เช่น การปิดไฟ แต่ Auto-On ทำตรงกันข้ามคือ ในกรณีที่สถานะของอุปกรณ์เป็น Off แต่หลังจากกำหนด Auto-On มันจะถูกให้ On อีกครั้งภายในระยะเวลาที่เรากำหนดไว้ แล้วมันเอามาใช้อะไรในกรณีไหนได้บ้างล่ะ? ยกตัวอย่างง่ายๆคือ ในบางพื้นที่ๆระบบไฟฟ้ามีความไม่เสถียร คือติดๆดับๆ ซึ่งมันอาจจะทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหายได้ถ้าไม่มีระบบป้องกันที่ดีพอ การมี Auto On ก็จะสามารถหน่วงเวลาให้เปิดในภายหลัง ไม่ต้องไปผจญกับไฟกระตุกในช่วงเวลาสั้นๆ หรือ แม้กระทั่งการรีบูท Router ถ้าหากสมาชิกที่บ้านที่ไม่มีความรู้ด้านไอทีบ่นว่าระบบ wifi ไม่เสถียร การทำ Auto On ก็สามารถทำให้ผู้ดูแลที่บ้านทำการรีบูท Router เป็นไปอย่างง่ายไม่ว่าจะทำจากภายในบ้านหรือระยะไกล และคุณล่ะคิดว่า Auto On มีประโยชน์อะไรได้อีก คอมเมนท์กันมาได้เลย
การทำงานร่วมกับ Home Assistant
เช่นเคยเราได้ทดสอบ ZBMicro กับ Home Assistant โดยผ่าน Zigbee Integration ทั้ง ZHA และ Zigbee2MQTT บน Home Assistant 2024.5.3 แน่นนอนเราก็เห็นมันในแบบ switch ธรรมดาทั่วๆไปที่สามารถเอาไปใช้ใน Automation (ดูรูปด้านล่าง) ได้ น่าเสียดายมันน่าจะมีข้อมูลพวกไฟฟ้า หรือ ค่าพลังงานเพื่อที่เราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อื่นๆได้ด้วยเหมือนกับที่เราเห็นใน Smart Plug S31 การต่อยอดก็เช่น ถ้าชาร์จเสร็จ (พลังงานลดต่ำจนเกือบ 0) ก็ให้หยุดโดยไม่ต้องไปตั้งเวลาชาร์จแต่ควบคุมจาก Automation ใน Home Assistant แทน
สรุป
หลังจากทำการทดสอบ SONOFF Bridge Ultra ในหลายๆแง่มุม เราคิดว่ามันน่าสนใจสำหรับสาวก eWeLink รวมถึงสำหรับสาวก Apple Home, Google Home หรือค่ายใดๆที่สนับสนุน Matter เพราะมันมี Matter Bridge ในตัว มันสร้างทางเลือกสำหรับอุปกรณ์ที่หลากหลายขึ้นให้กับสาวกเหล่านี้ แน่นอนถ้าอยากจะใช้ฟีเจอร์ที่ครบถ้วนการใช้ eWeLink จะครบสุด ขณะที่ถ้าผ่าน Matter ฟีเจอร์ก็จะลดหลั่นลงไป เราชอบ Turbo Mode ที่อยู่ในทั้ง Ultra และ ZBMicro ที่ทำให้ระยะทางมันไกลและครอบคลุมบริเวณบ้านมากขึ้น และการที่ Zigbee Bridge มีลำโพงในตัวก็ทำให้ระบบ Smart Home มันสะดวกขึ้นและลดการใช้อุปกรณ์ลง ตัว Ultra มาด้วยสเปคที่ค่อนข้างแรงบวกกับความหยืดหยุ่นในการอัพเดตซอฟแวร์ในภายหลังได้ (OTA) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีนอกเหนือจาก iHost (79.9$ v.s. 59.9$) เช่นกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราอยากเห็น Ultra ทำได้อีกก็เช่น การใช้ประโยชน์จากลำโพงโดยแพลตฟอร์มอื่นๆ การสนับสนุน Thread ในอนาคต
ในตัว ZBMicro นั้นมันเป็นไอเดียที่โอเคเลย มันเป็นมากกว่า Zigbee Router ที่ทำสวิตซ์ได้ ใช้กับอุปกรณ์ที่ Fast Charging และรวมถึงสนับสนุนการส่งข้อมูล และฟีเจอร์เล็กๆน้อยๆที่สร้างความแตกต่างในตลาด ด้วย form factor ที่เป็นตัวจิ๋วขนาดนี้ มันน่าสนใจที่ผู้ใช้จะเอาไปใช้อย่างไรนอกเหนือจากเคสที่เรายกตัวอย่างไป
ขอบคุณ ITEAD ที่ส่ง SONOFF Zigbee Bridge Ultra (ZBBridge-U) และ SONOFF ZBMicro มาให้รีวิวในครั้งนี้ โดย SONOFF Zigbee Bridge Ultra มีราคา $59.90(~2,200฿) และSONOFF ZBMicro ในราคา $12.99(~470฿) มีคูปองส่วนลด 10% เมื่อใช้โค้ด CNXSOFTSONOFF และถ้าสั่งซื้อสินค้าของบริษัทรวมกันเกิน $89 (~3,200฿) จะได้รับการจัดส่งฟรี
วิศวกรคอมพิวเตอร์สาย Infrastructure ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีทางด้าน IOT เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Smart Home, Smart Farm และยังสนใจในนวตกรรมเกี่ยวกับ Sustainability เช่น Renewable Energy และ Organic Food