Latency หรือ เวลาแฝง คือ ค่าความล่าช้าระหว่างการส่งข้อมูลจากต้นทางไปยังปลายทาง โดยมีหน่วยวัดเป็นมิลลิวินาที (ms) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายบริบท เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์, การประมวลผลข้อมูล, ระบบเซิร์ฟเวอร์ และฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เวลาแฝงส่งผลต่อประสิทธิภาพของกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสตรีมวิดีโอ เล่นเกมออนไลน์ หรือ การเข้าถึงบริการคลาวด์
สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ เวลาแฝงของเครือข่าย (Network Latency) และ เวลาแฝงของแอปพลิเคชัน (Application Latency) ซึ่งทั้งสองประเภทนี้มีผลต่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการใช้งานในหลายๆ ด้านในชีวิตประจำวันของเรา
- Network Latency หรือที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันในชื่อของ Ping คือระยะเวลาที่ข้อมูลใช้ในการเดินทางจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งบนเครือข่าย เช่น การส่งสัญญาณไปยังปลายทางแล้วรอสัญญาณตอบกลับ โดยหน่วยที่ใช้วัดคือ มิลลิวินาที (ms) ยิ่งค่า Network Latency ต่ำ ก็แสดงว่าเครือข่ายมีความเร็วในการตอบสนองสูง ซึ่งมีผลต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตในกิจกรรมต่างๆ เช่น การ วิดีโอคอล, เล่นเกมออนไลน์, หรือ VoIP (Voice over IP) โดยที่ค่า Latency ที่ต่ำจะช่วยให้การใช้งานลื่นไหล ไม่มีการกระตุกหรือหน่วง (Lag) ตัวอย่างค่า Network Latency ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานต่าง ๆ เช่นน้อยกว่า 30 ms – เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป, น้อยกว่า 40 ms – เหมาะสำหรับการเล่นเกมส์ออนไลน์, น้อยกว่า 20 ms – เหมาะสำหรับการใช้งานแบบเรียลไทม์ที่ต้องการความแม่นยำสูง
- Application Latency คือระยะเวลาที่ใช้ในการที่แอปพลิเคชันประมวลผลและตอบสนองต่อคำสั่งของผู้ใช้ โดยมุ่งเน้นที่ความเร็วภายในของแอปพลิเคชันเอง ปัจจัยที่มีผลต่อ Application Latency ได้แก่ ความซับซ้อนของแอปพลิเคชัน, ปริมาณข้อมูลที่ต้องประมวลผล, และการออกแบบโปรแกรม
ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Latency
- ความเร็วของฮาร์ดแวร์ เช่น CPU, RAM, การ์ดเครือข่าย และ SSD ที่เร็วกว่าจะช่วยลดความล่าช้าในการประมวลผลและการส่งข้อมูล
- ระยะทางของเครือข่าย ข้อมูลที่ต้องเดินทางผ่านระยะทางไกลขึ้นจะใช้เวลานานขึ้น เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตข้ามทวีปมักมีค่า Latency สูงกว่าการเชื่อมต่อภายในประเทศ
- แบนด์วิดท์ของเครือข่าย หากแบนด์วิดท์ต่ำหรือมีการใช้งานหนัก อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งข้อมูล
- ปริมาณข้อมูลที่รับส่ง ไฟล์ขนาดใหญ่หรือจำนวนแพ็กเก็ตข้อมูลที่มากเกินไปอาจทำให้ระบบทำงานช้าลง
- ประเภทของการเชื่อมต่อ เช่น Wi-Fi อาจมี Latency สูงกว่าการเชื่อมต่อผ่านสาย LAN เนื่องจากปัจจัยด้านสัญญาณรบกวนและความเสถียรของคลื่นวิทยุ
- สถาปัตยกรรมของซอฟต์แวร์และระบบ การออกแบบโปรแกรมและอัลกอริธึมที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้ระบบทำงานช้าลง
- ความแออัดของเครือข่าย (Network Congestion) หากมีผู้ใช้จำนวนมากในเครือข่ายเดียวกัน อาจส่งผลให้ Latency เพิ่มขึ้น
วิธีลด Latency
- ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีแบนด์วิดท์สูงและค่า Latency ต่ำ – บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ออปติกมักให้ค่าความหน่วงต่ำกว่าสายทองแดงหรือสัญญาณไร้สาย
- เลือกเซิร์ฟเวอร์หรือโหนดเครือข่ายที่อยู่ใกล้ที่สุด – ลดระยะทางของข้อมูลที่ต้องเดินทาง
- ใช้ฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูง – เช่น CPU และ RAM ที่เร็วกว่าจะช่วยลดเวลาประมวลผล
- เปลี่ยนไปใช้ SSD แทน HDD – ลด Latency ในการอ่านและเขียนข้อมูล
- ใช้ Load Balancing และ CDN (Content Delivery Network) – กระจายโหลดไปยังเซิร์ฟเวอร์หลายตัวและลดระยะทางของข้อมูล
Latency เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพของเครือข่ายและการประมวลผล โดยมีหลายประเภท เช่น Network Latency, Processing Latency, Storage Latency และ Display Latency ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Latency รวมถึงความเร็วของฮาร์ดแวร์ ประเภทของเครือข่าย ระยะทาง และปริมาณข้อมูล การลด Latency สามารถทำได้โดยการเลือกใช้อินเทอร์เน็ตและฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม ปรับแต่งซอฟต์แวร์ และใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น CDN และ Load Balancing การลดความล่าช้าจะช่วยให้ระบบทำงานได้เร็วขึ้น ตอบสนองไวขึ้น และมีเสถียรภาพมากขึ้น

บรรณาธิการข่าวและบทความภาษาไทย CNX Software ได้มีความสนใจในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Smart Home และ IoT