เมื่อเร็วๆนี้เราได้รับม่านอัจฉริยะ (Smart Shade/Cover) จากบริษัท SmartWings เพื่อมารีวิว บริษัท SmartWings ทำ Smart Shade/Cover อยู่ในวงการมากว่า 15 ปี มีจุดเด่นตรงที่ผลิตภัณฑ์สามารถ customise ตามความต้องการได้หลากหลายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของม่านกว่า 10 แบบ ขนาดที่กว้างและสูงได้ถึง 3เมตร เนื้อผ้าหลายสไตล์ และการควบคุมผ่านแพลตฟอร์ม Smart Home ได้หลายค่ายเช่น Amazon Alexa, Google Assistant, Apple HomeKit, Samsung SmartThings, Home Assistant, Hubitat การที่ม่านมันฉลาดโดยทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆในบ้าน ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและหยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น เปิดปิดม่านตามอุณภูมิเพื่อลดการใช้พลังงาน เปิดปิดตามพระอาทิตย์ เปิดปิดตามเวลาเพิ่อความเป็นส่วนตัว เปิดปิดตามตำแหน่งในช่วงเวลาต่างกันเพื่อสัตว์เลี้ยงเป็นต้น
ทาง SmartWings ให้เราหาจุดที่ต้องการติดตั้งเพื่อทดสอบ วัดขนาด หลังจากนั้นให้เข้าไปใน https://www.smartwingshome.com เพื่อ Made to Customise โดยเลือกชนิดม่าน เนื้อผ้า ขนาดที่ต้องการ และตัวเลือกอื่นๆ ดูตัวอย่างการ Made to customise configuration จากรูปด้านล่าง
หลังจากนั้นภายใน 2 อาทิตย์เราก็ได้ม่านมาทดสอบ โดยแบบที่เราเลือกมาทดสอบคือ
- Outdoor Shade เนื่องจากสถานที่เราตั้งใจจะทดสอบกับบริเวณประตูทางเข้าอาคารที่โดนแดดบ่ายๆเต็มๆ ชนิดของม่านที่ SmartWings ให้เลือกมีถึง 10 แบบ ไล่ตั้งแต่ Roller , Cellular , Zebra , Woven Wood, Outdoor, Dual, Harmony Duo Plus Dual, Roman, Drapery และ Special Window ซึ่งมันหลากหลายมากๆ
- ความโปร่งใส่ของ fabric ที่ระดับ 1% (ความเป็นส่วนตัวมากสุด) โดยมีตัวเลือกตัวเลือก 1%, 3% และ 5%
- เนื้อผ้าของม่านเป็นสีเบจ สำหรับตัวเลือกของสีในระดับ 1% จะมี ดำ เทา เบจ ขาว
แต่ถ้าเป็นระดับ 3% และ 5% จะมีตัวเลือกมากขึ้นคือ กาแฟ เทา เทาเข้ม ทองเข้ม - มีแผงโซลาร์เซลล์มาเพิ่มเติม เพราะบริเวณที่ติดจะไม่มีปลั๊กเสียบใดๆทั้งสิ้น เราก็อยากจะทดสอบว่าการทำงานจะกินไฟขนาดไหนและแบตเตอรี่จะชาร์จได้เร็วเพียงใด และแน่นอนว่าหนึ่งการชาร์จใช้ได้นานขนาดไหน
- มีรีโมทคอนโทรลขนาดเล็กไว้ควบคุมและปรับแต่งระดับของม่าน
- ชนิดของมอเตอร์เป็นรุ่นที่ทำงานร่วมกับ Smart Home เป็นแบบ Matter (over Thread) มันก็มีตัวเลือกอื่นนอกเหนือจาก Matter อีกเช่น Amazon Alexa, Zigbee, Z-Wave, Apple HomeKit และแบบธรรมดาแบบใช้รีโมทปกติ (RF)
- มอเตอร์ของม่านอยู่ด้านขวา
- ที่ยึดรางม่าน Mount Type เป็นแบบภายนอก
ในเรื่องประสบการณ์ตอน config ตัวม่านบอกตรงๆเราไม่เคยคิดว่ามันจะง่ายแบบนี้ เพราะปกติเวลาซื้อม่าน เราต้องเข้าไปที่ร้านเพื่อคุยกับพนักงาน และต้องมีคนที่ชำนาญมาติดให้ แต่หลังจากนี้ไปบอกเลยว่าความคิดเปลี่ยนไปสิ้นเชิง
ในการรีวิวนี้จะมุ่นเน้นที่การทดสอบฟังก์ชั่นของม่านกับระบบ Smart Home ซึ่งในรีวิวนี้เราเลือกแพลตฟอร์ม Home Assistant และ Apple Home มาทดสอบด้วย โดยปกติหากผลิตภัณฑ์สนับสนุนโปรโตคอล Matter มันก็สามารถใช้งานร่วมกับ Smart Home แพลตฟอร์มอื่นๆได้ด้วยเช่นกันตราบใดที่แพลตฟอร์มนั้นสนับสนุน Matter เช่น Amazon Alexa, Google Home หรือ Samsung SmartThing
มาแกะกล่องกัน
พัสดุที่ส่งถึงเรามีแค่กล่องเดียว แพ็คมาแน่นหนามากถึงแม้จะมีขนาดยาวเกินสองเมตร ภายในกล่องมาพร้อมรางม่านพร้อมตัวม่าน คู่มือติดตั้ง คู่มือการใช้ Matter สายชาร์จแบตเตอรี่ สายต่อพ่วงสำหรับแผงโซลาร์เซลล์ สกรู พุก ตัวยึดม่าน(4) รีโมทคอนโทรล (RF) ที่ชาร์จไฟ ลวดยึดม่าน และแผงโซลาร์เซลล์ยาวเกือบๆฟุต
เท่าที่เราลองสัมผัส fabric ของม่านดู วัสดุที่ใช้อยู่ในเกรดดี ดูดี รางม่านมีความแข็งแรง ภาพด้านล่างเป็น privacy ที่ระดับ 1% เทียบให้เห็นจากการมองจากด้านในและจากด้านนอกเข้าไป
สเปค
เนื่องจาก SmartWings ทำ customise ตัวม่านได้เกือบๆทุกอย่าง ทำให้เราไม่สามารถจะลงรายละเอียดเจาะจงได้มากนัก
แต่เราได้สอบถามไปยัง SmartWings ในรายละเอียดของแบตเตอรรี่และชิปที่ใช้ในมอเตอร์ดังนี้
มอเตอร์รุ่น Matter
- Chip: Nordic Semiconductor nRF52840
- Battery Type: Lithium Battery
- Nominal Voltage: 8.4V
- Nominal Current: 0.4–0.7A
- Battery Capacity: 2,600mAh
- Standby Current: Less than 120uA
- Charging Cycles: Rechargeable
- Battery Life per Charge: 4–6 months (with one open/close cycle per day)
จากที่เราลองทดสอบแบตเตอรี่ดูโดยการเปิดและปิดม่านเป็นจำนวน 6 ครั้ง เราพบว่าแบตเตอรี่ลดลง 3% จาก 95% ไปยัง 92% นั่นหมายถึง ถ้าวันนึงมีการเปิดปิดวันละครั้งด้วยแบตเตอรี่ที่ชาร์เต็มมันน่าจะทำงานได้ 200 วัน หรือประมาณ 6 เดือนซึ่งใกล้เคียงกับสเปคที่ทาง SmartWings ได้ให้มา หากเทียบกับขนาดของม่านที่เราทดสอบถือว่าประหยัดพลังงานจากแบตเตอรี่พอสมควรและมันคงไม่ลำบากถ้าจะชาร์จทุกๆ 6 เดือนในกรณีที่ไม่ได้โซลาร์เซลล์
ในกรณีติดม่านเพื่อกันแดด ซึ่งบริเวณนั้นน่าจะมีแสงอาทิตย์ตกกระทบไม่มากก็น้อย การชาร์จโดยใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นทางเลือกที่ดี น่าเสียดายเราไม่สามารถทดสอบอย่างมีประสิทธิภาพมากนักเนื่องจากช่วงทดสอบอากาศไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามตั้งแต่แกะกล่องและทดสอบไปหนึ่งอาทิตย์เต็ม เราได้จดบันทึก % แบต จากตอนแกะกล่องที่ 57% ใช้งานทดสอบไปมา ณ ตอนที่เขียนสรุปรีวิวนี้แบตขึ้นไปอยู่ที่ 94% แสดงว่าแบตถูกชาร์จไปเรื่อยๆเช่นกัน
การติดตั้ง
บอกก่อนเลยว่าเราไม่เคยติดตั้งเองมาก่อน ตัวนี้เเป็นตัวแรกที่เราลงมือทำเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวัดขนาดที่ถูกต้อง ซึ่งต้องพิถีพิถันการวัดตั้งแต่การ config เริ่มแรกก่อนสั่งของมา เราไม่มีผู้ช่วยใดๆในการติดตั้ง แค่คนๆเดียว โชคดีที่ม่านมีน้ำหนักไม่มากถึงแม้จะยาวเกินสองเมตร ตัว fabric มีขนาดเบาแต่ดูแข็งแรง เราใช้เวลาค่อนข้างนานในการวัดจุดที่ติดตั้ง bracket ที่ยึดตัวม่านเข้ากับผนัง จำนวน bracket ที่ให้มาคือ 4 (ดูรูปด้านล่าง) ซึ่งหลังจากติดตั้งม่านไปแล้วมันก็ดูแข็งแรงดี แถมมันยังเลื่อนไปด้านข้างไปมาได้ทำให้การปรับแต่งภายหลังทำได้ง่าย การติดตั้งก็ต้องเจาะผนัง ติดพุก และไขน็อตตัวยึด (bracket) เข้าไป แน่นอนเราไม่อยากเกิดความผิดพลาดดังนั้นทุก bracket เราจะทดสอบระดับน้ำเพื่อให้ระดับทั้ง 4 ตัวตรงกันมากที่สุด ไม่ผิดหวังณ ตอนที่เรายกเอาม่านขึ้นไปติด ทุกอย่างเป็นไปได้ดี ตัวยึดม่านเข้าล็อคม่านได้อย่างมั่นคง เราขยับรางไปซ้ายขวานิดหน่อยเพื่อให้จุดต่ำสุดของม่านด้านล่างไม่ชนกับขอบปูนตกแต่งสีขาว เนื่องจากบริเวณที่ติดลมไม่แรงมากเราจึงไม่ได้ติดตัวพยุงม่านไม่ให้ปลิว แต่เราใช้เป็นการวัดแรงลมจากเซ็นเซอร์เพื่อควบคุมแทนซึ่งจะกล่าวในการทดสอบต่อไป
หลังจากม่านถูกติดตั้งแล้ว เราได้ทดสอบการใช้งานต่างๆรวมถึงวัดความดังมอเตอร์ขณะทำงาน ขณะที่เราใช้แอปวัดเสียงบน iPhone ยืนใกล้มอเตอร์ภายในหนึ่งเมตร ความดังมันอยู่ที่ระดับ 40-50เดซิเบล มันเงียบใช้ได้เลยละ น่าจะระดับเดียวกันกับการสนทนาทั่วๆไป
ในส่วนของแผงโซลาร์เซลล์ที่ไว้ชาร์จแบตในมอเตอร์ เราได้ทำการวางมันไว้บนขอบปูนซึ่งถูกบังไม่ให้เห็นจากด้านล่างได้เป็นอย่างดีทำให้งานติดตั้งดูสวย อย่างไรก็ตามตำแหน่งที่ว่าก็ยังมีแสงอาทิตย์ตกกระทบอย่างจัง ซึ่งมันน่าจะเป็นจุดที่ balance ระหว่างความสวยงามและการชาร์จ จริงๆระหว่างการ Made to Customise เราได้สั่งสายพ่วงขยายระยะจากแผงโซลาร์มาด้วยแต่เอาจริงๆไม่ต้องใช้เพราะสายที่ติดมายาวพอ ตัวแผงโซลาร์มีเทปสองหน้า 3M ด้านหลังเพื่อให้เราไว้แปะกับบริเวณที่ต้องการติดตั้งโดยที่ไม่ต้องใช้สกรูเลยเนื่องจากแผงเบามากๆ ดูรูปด้านล่างประกอบ
ก่อนที่จะไปถึงการติดตั้งม่านเข้ากับ Smart Home เราขอพูดถึงการตั้งค่า Upper Limit และ Lower Limit กันก่อนเนื่องจากหน้างานแต่ละที่ไม่เหมือนกัน และความต้องการของผู้ใช้ต่างกัน อาจจะต้องมีการปรับจุดที่ม่านม้วนขึ้นสุด (ด้านบน) และปรับจุดที่ม่านปล่อยมามากสุด (ด้านล่าง) เราพบว่าขั้นตอนปรับนี้ไม่สามารถทำจาก Application ใดๆได้ จะต้องทำจากรีโมทอย่างเดียว เราจึงแนะนำให้ควรซื้อรีโมทไว้เพื่อการนี้ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้ใช้มันมากเท่าแอปหรือ Automation ยกตัวอย่างเคสที่เราเจอมาคือ ตอนทดสอบจริงเราลืมปิดประตูก่อนนำม่านลงทำให้ม่านไม่สามารถเปิดได้และค้างอยู่บนบานประตู ทำให้จุดสมดุลเปลี่ยนไปและต้องมาทำการปรับแต่งอีกครั้งซึ่งต้องใช้รีโมทเท่านั้น
ถึงตรงจุดนี้ม่านถูกติดตั้งกับอาคารเรียบร้อย มันไม่ยากเลยสำหรับคนที่ไม่เคยติดตั้งมาก่อน คนหนึ่งคนกับเวลาหนึ่งชั่วโมงม่านก็พร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนถัดมาคือ การติดตั้งตัวม่านเข้ากับระบบ Smart Home เนื่องจากตัวมอเตอร์ของม่านมาพร้อมกับแบตเตอรี่ที่ชาร์จมาจากโรงงาน มันจึงพร้อมใช้งาน จุดที่เราติดตั้งไม่มีปลั๊กให้เสียบสายชาร์จ (USB-C) แต่อย่างใดเพราะเป็นภายนอกอาคาร ซึ่งจริงๆเราก็ตั้งใจให้มันถูกชาร์จจากแผงโซลาร์เท่านั้นเพื่อความสะดวกในการติดตั้ง
มอเตอร์ที่เราเลือกมาเป็นแบบอยู่ทางด้านขวา ซึ่งจะมีสายอยู่หลายแบบตรงบริเวณมอเตอร์ (ดูรูปด้านบน) สายสีดำเล็กๆคือสายที่ใช้สื่อสารกับรีโมทคอนโทรล เราคิดน่าจะเป็น RF ที่ใช้ติดต่อกับรีโมท สายสีขาวสำหรับสื่อสารแบบ 2.4GHz ของ Matter สายสีดำใหญ่คือสายเชื่อมกับแผงโซลาร์ และสีเทาที่มีปุ่มสำหรับการควบคุมแบบแมนวล
ขั้นตอนแรกของการติดตั้งกับ Smart Home คือต้อง Wake up ตัวม่านที่ส่งมาจากโรงงานก่อนเพราะระหว่างการขนส่งมอเตอร์ม่านอาจมีการเคลื่อนไหวและเสียหาย ทางโรงงานจึงสั่งให้ม่านอยู่ใน Sleep Mode ก่อนส่ง การออกจาก Sleep Mode ทำได้โดยการกดปุ่มสีเทาประมาณ 2 วินาที จนมอเตอร์มีการขยับเล็กน้อยและมีแสงสีแดงขึ้นมา (ตามรูปด้านบน) ซึ่งแสดงถึงมอเตอร์พร้อมใช้งานและเข้าสู่ Pairing Mode ซึ่งเราจะพูดถึงในหัวข้อถัดไปในแต่ละแพลตฟอร์ม
การทำงาน SmartWings Shade ร่วมกับ Home Assistant
เราทดสอบ SmartWings Shade กับ Home Assistant ก่อน โดยมีองค์ประกอบดังนี้
- ใช้ Home Assistant 2025.4.4
- ติดตั้ง Thread and Matter Integration ใน Home Assistant
- มีอุปกรณ์ Thread Border Router เนื่องจากเราได้เลือกมอเตอร์แบบ Matter Over Thread การทดสอบนี้ได้ใช้ Apple HomePod Mini ที่เรามีอยู่เป็น Thread Border Router
ทาง SmartWings มีรายชื่อของ Thread Border Router ที่ทำงานด้วยกันได้ตามตารางด้านล่าง ตัว Thread Border Router สามารถมีแค่ตัวเดียวเพื่อเป็นตัวสร้างเครือข่าย Thread (2.4GHz) ระหว่างม่านกับระบบ Smart Home ส่วน Matter Controller เราจะใช้แพลตฟอร์มไหนก็ต้องมี Matter Controller 1 ตัวของแพลตฟอร์มนั้น ถ้ามีการแชร์ใช้งานม่านมากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์มเราก็ต้องมี Matter Controller มากกว่า 1 เช่น ในการทดสอบนี้เรามีสองแพลตฟอร์มคือ Home Assistant และ Apple Home ดังนั้นเรามี Home Assistant Server ที่ทำตัวเป็น Matter Controller และมี HomePod Mini ที่เป็นทั้ง Matter Controller และ Thread Border Router สำหรับ Apple HomeKit
เนื่องจากเราได้เลือกมอเตอร์แบบ Matter ดังนั้นการเพิ่ม SmartWings Shade เข้าไปใน Home Assistant จะทำผ่าน Matter Integration โดยไปที่ Setting / Devices & Services แล้วกด Add Integration ตามด้วย Add Matter device จากนั้นก็ทำการ Scan QR code แล้วทำตามขั้นตอนแบบรูปด้านล่างได้เลย
ส่วนการติดตั้ง Thread นั้น หาก Home Assistant มีการ detect เจอตัว Thread Border Router ตัว Thread Integration จะถูกโชว์ออกมาโดยอัตโนมัติและพร้อมใช้งาน โดยในการทดสอบนี้คือทำงานร่วมกับ Matter
หลังจากที่ SmartWings Shade ได้เข้าไปอยู่ภายใต้ Home Assistant แล้ว มันก็พร้อมถูกใช้งานทันที หากเราดูที่ Info จะพบว่ามี Entity ที่พร้อมใช้งานคือ การควบคุมม่าน เปิด ปิด หยุด และ แรงดันแบตเตอรี่ของมอเตอร์ม่าน รวมถึง % แบตเตอรี่ เราได้ลองควบคุมการเปิดปิดม่านจากแอป Home Assistant บนมือถือไปยังในตำแหน่งที่ต้องการ เช่น 60% รวมถึงการเปิดม่านสุด และ ปิดลงสุด ทุกอย่างราบรื่นดี
มาถึงตรงจุดนี้เราคิดว่ามันติดตั้งและใช้งานง่ายกว่าที่คิดไว้เยอะนะ
ถัดไปคือการสร้าง Automation เพื่อควบคุมม่านให้ทำงานอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่เราต้องการเพื่อให้มันมีประโยชน์สูงสุด ในที่นี้เราได้กำหนดเงื่อนไข (Trigger) แบบง่ายๆเพื่อทดสอบ โดยจะใช้อุณหภูมิและความเร็วลมมาเป็นตัวกำหนดให้ม่านเปิดหรือปิด เรามีเซ็นเซอร์วัดความเร็วลมนอกอาคาร และ อุณหภูมิในอาคาร (รูปด้านล่าง) อยู่แล้วดังนั้นสามารถเอาใช้เป็นเงื่อนไขได้เลย
ภาพด้านล่างคือ Automation ไว้สำหรับเปิดและปิดม่านอัตโนมัติ โดยใช้เงื่อนไขจากเซ็นเซอร์วัดความเร็วลม และ วัดอุณหภูมิ โดย
- หากอุณหภูมิในอาคารมากกว่า 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 5 นาทีก็ให้ทำการปิดม่านลง 50% เพื่อลดอุณหภูมิลง ทำให้แอร์ใช้พลังงานน้อยลงในการทำงาน
- หากอุณหภูมิในอาคารลดต่ำกว่า 34 เป็นเวลา 5 นาที ให้ทำการเปิดม่านสุด หรือ อีกเงื่อนไขคือหากแรงลมมากกว่า 10m/s ก็ให้เปิดม่านสุดเพื่อป้องกันม่านไม่ให้แกว่งเสียหาย
เราอาจจะเพิ่มเงื่อนไขเพื่อความปลอดภัยเวลาเปิดปิดเข้าไปด้วย เช่น ใช้สถานะของ Window/Door sensor มาเช็คก่อนที่จะปิดม่านเพื่อให้แน่ใจว่าม่านทำงานได้ดีโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง โดยปกติม่านจะไม่มีเซ็นเซอร์ใดๆมาให้ด้วยเพื่อเช็คการกระทบหรือชน ดังนั้นเราต้องเราผิดชอบในการสร้างเงื่อนไขเอง
นอกจากนี้เราอาจตั้งเงื่อนไขอื่นๆที่เราต้องการ เช่น ใช้เวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกมาเป็นเวลาในการเปิดปิด ใช้ช่วงเวลามาเปิดไปม่านไปตำแหน่งที่ต้องการ
ขั้นตอนถัดไปเราจะมาเตรียมความพร้อมในการให้ SmartWing Shade ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม Apple Home ซึ่งเราจะไม่ลบอุปกรณ์ตัวนี้ออกจาก Home Assistant แต่จะใช้วิธีการแชร์ pairing code ออกไป ซึ่งใน Matter สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติที่ทำให้เราสามารถควบคุม SmartWings Shade จากหลายๆแพลตฟอร์มพร้อมๆกันได้
การทำงาน SmartWing Shade กับ Apple HomeKit
ก่อนที่จะใช้ Apple Home ควบคุม SmartWings Shade ได้ เราจำเป็นต้องขอ Pairing Code จาก Home Assistant ก่อนซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแรกที่เราเพิ่ม SmartWing Shade เข้าไป โดยทำการแชร์ Device และจด Pairing Code ตามรูปด้านล่าง
หากเราเพิ่ม SmartWings Shade เข้าไป Apple HomeKit แพลตฟอร์มแรก การ copy pairing code ก็ไม่จำเป็นแค่ทำการ scan QR code ที่อยู่บนม่านก็สามารถเพิ่มม่านเข้าไปใน Apple Homekit ได้
หลังจากที่จด pairing code ไว้แล้ว เราก็ไปที่ Apple HomeKit เพื่อทำการเพิ่ม Accessory ตามขั้นตอนด้านล่าง แล้วใส่ pairing code ระหว่างการ setup แล้วตามด้วยรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ชื่อ และสถานที่
ขั้นตอนมันก็ง่ายเท่านี้เองสำหรับการเพิ่ม SmartWings Shade เข้าไปใน Apple HomeKit ซึ่งพร้อมใช้งาน เราได้ลองทดสอบแบบแมนวลโดยเปิดม่านไปตำแหน่งที่ต้องการและการตั้งค่าไอคอนม่านในแบบที่เราชอบ ซึ่งก็ทำได้เหมือนกับที่ได้ลองใน Home Assistant
ขั้นตอนถัดไปเราได้ลองสร้าง Automation ใน Apple HomeKit คล้ายๆกับที่สร้างใน Home Assistant โดยการใช้การเปิดปิดอุปกรณ์ตัวนึง (น้ำพุ) มาเป็น Trigger การเปิดม่านที่ต่ำแหน่งที่เราต้องการ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกับที่ทำได้ใน Home Assistant
และสุดท้ายคือการสร้าง Scene ใน HomeKit ที่ให้เราสามารถควบคุมม่านผ่าน Siri ให้เปิดปิดตาม voice command ดังตัวอย่างด้านล่างที่เราแทรกการเปิดม่านเมื่อถึงตอนเช้า หรือ เราจะพูดว่า Good Morning ก็ได้ ซึ่งมันก็จะทำงานตามคำสั่งเสียงรวมไปถึงทำงานช่วงพระอาทิตย์ขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้สถานะของ SmartWings Shade ที่ปรากฏใน Home Assistant และ Apple HomeKit ก็ sync ถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าแบต ค่าตำแหน่งของม่าน สถานะของการเปิดปิด ซึ่งเป็นข้อดีของ Matter ในเรื่องนี้ ทำให้การใช้งาน SmartWings Shade ทำได้จากหลากหลายอุปกรณ์บนแพลตฟอร์มที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน เช่น คุณพ่ออาจจะชอบใช้ Apple HomeKit บน iOS เพราะมันง่ายดี ขณะที่ลูกชายชอบ Home Assistant เพราะมันลึกและหยืดหยุ่นดี
บทสรุป
ได้ทดลองใช้มาร่วมๆอาทิตย์ โดยรวมเราคิดว่า SmartWings Shade เป็น Smart Shade ที่น่าประทับใจตัวนึง เราค่อนข้างมีประสบการณ์ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นวัด Config ผ่านเวป ติดตั้ง จนถึงการแก้ปัญหา SmartWings ทำได้ดีทีเดียว เราไม่เคยเจอการ customisation ของม่านที่หลากหลายแบบนี้มาก่อน วัสดุตัวม่านแข็งแรง เนื้อผ้ามีความสวยงาม แม้กระทั่งภรรยาที่บ้านยังชม การทำงานเงียบ ที่เด็ดมากๆคือ สามารถติดตั้งได้ด้วยตัวเองในเวลาไม่นาน อีกทั้งมีตัวเลือกกับ Smart Home หลายแพลตฟอร์มมาก ตัวที่เราเลือกคือ Motor ม่านเป็น Matter ที่เป็นเทคโนโลยี Smart Home ล่าสุด ซึ่งไม่ผิดหวังเพราะติดตั้งง่ายภายในห้านาที เราเจอปัญหาเดียวคือ ตอนที่ทดสอบ Automation เราลืมปิดบานประตูทำให้ม่านไปกองทับกันบนประตูซึ่งทำให้ม่านต้องมาตั้งค่าสูงสุดต่ำสุดใหม่ ซึ่งมันไม่สามารถทำผ่านแอป Smart Home ใดๆได้นอกจากตัวรีโมท ดังนั้นต้องสั่งซื้อรีโมทมาด้วย การช่วยเหลือผ่านทาง email จาก SmartWings ทำได้เร็วในหนึ่งวัน ตอบทุคำถามที่ถาม ข้อเสียนอกเหนือจากนี้น่าจะเป็นราคาที่ premium นิดๆและ addon ที่มีเยอะมากจนอาจทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก แต่เราคิดว่ามันคุ้มค่าเมื่อเทียบกับม่านที่ทำงานอย่างสมาร์ทและมีความสวยงามภายในตัวเดียวกัน
ขอขอบคุณ SmartWings ที่ส่งผ้าม่าน Motorized Outdoor Shades มาให้เราได้รีวิวครั้งนี้ โดยสามารถสั่งซื้อผ้าม่านที่รีวิวนี้จากเว็บไซต์ของบริษัท และบน Amazon โดยเลือกชนิดม่าน เนื้อผ้า ขนาดที่ต้องการ และตัวเลือกอื่นๆ ตามที่เราต้องการ

วิศวกรคอมพิวเตอร์สาย Infrastructure ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีทางด้าน IOT เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Smart Home, Smart Farm และยังสนใจในนวตกรรมเกี่ยวกับ Sustainability เช่น Renewable Energy และ Organic Food