เราได้รับ M5Stack Tab5 ชุดพัฒนา IoT ที่ใช้ชิป ESP32-P4 สำหรับรีวิว, ซึ่งดูเหมือนแท็บเล็ตขนาดเล็ก มาพร้อมกับหน้าจอสัมผัสขนาด 5 นิ้ว กล้องหน้า 2MP โมดูลไร้สาย ESP32-C6 ที่รองรับ WiFi 6, Bluetooth และ 802.15.4 รวมถึงมีอินเทอร์เฟซสำหรับการขยายต่างๆ
วันนี้เราจะมาแกะกล่อง แกะเครื่องบางส่วน และลองใช้งานเฟิร์มแวร์และ GUI ที่ติดมากับตัวเครื่องคร่าวๆ ก่อนจะไปดูวิธีการเขียนโปรแกรมให้กับอุปกรณ์นี้ใน Part 2
แกะกล่อง M5Stack Tab5
เราได้รับ Tab5 มาในกล่องแพ็กเกจสำหรับวางจำหน่าย พร้อมกับเทปใสแบรนด์ M5Stack ม้วนหนึ่ง (ยังไม่แน่ใจว่าให้มาทำไม แต่ก็ขอบคุณนะ M5Stack เพราะเทปใสนั้นมีประโยชน์เสมอ!)
ด้านล่างของกล่องบรรจุมีการระบุคุณสมบัติเด่นและสเปคทั้งหมด ซึ่งเราได้กล่าวถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ Tab5
ภายในกล่องประกอบด้วยตัวเครื่อง Tab5, แบตเตอรี่ขนาด 2,000mAh/14.8Wh และสายเคเบิลที่มีสายภายใน 6 เส้น สำหรับพอร์ตขยาย ExtPort2 ซึ่งรองรับสัญญาณ I2C และ RS485

ด้านล่างของตัวเครื่องมีฝาครอบช่องใส่แบตเตอรี่, แผนผังบล็อกไดอะแกรม, หัวต่อขยายสองชุด (headers M-Bus ระยะห่างขา 2.54 มม., คอนเนกเตอร์ ExtPort2 ที่มาพร้อมสวิตช์ตัวต้านทาน RS485) และรูเกลียวสำหรับยึดอุปกรณ์
หากมอง M5Stack Tab5 จากด้านข้าง เราจะพบปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง, พอร์ต USB-A สำหรับจ่ายไฟ, พอร์ต USB-C สำหรับรับไฟเข้า, ช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม., และ GPIO header ของพอร์ต A อยู่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งจะมีคอนเนกเตอร์ ExPort1 (รองรับ GPIO และอินพุตไฟ DC 6 ถึง 24 โวลต์), ช่องใส่ microSD card, รูเกลียวสำหรับติดขาตั้งกล้อง (หรืออุปกรณ์เสริมลักษณะคล้ายกัน), และรูสำหรับลำโพงในตัว
ด้านบนของตัวเครื่องมีคอนเนกเตอร์สำหรับสายอากาศภายนอกจำนวนสองจุด ซึ่งไม่มีแถมมาให้ในชุดเริ่มต้น เนื่องจากตัวเครื่องมีสายอากาศแบบ 3D ภายในติดตั้งมาให้อยู่แล้ว
แกะเครื่อง M5Stack Tab5
มาเริ่มการแกะเครื่องกันด้วยการเปิดฝาครอบช่องใส่แบตเตอรี่ และถอดสกรูหกเหลี่ยม 4 ตัวเพื่อถอดฝาครอบด้านขวาออก โดยต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสติกเกอร์นั้นยื่นมาถึงคอนเนกเตอร์ Export1 ดังนั้นควรค่อยๆ ถอดฝาครอบออกอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ฉีกขาดสติกเกอร์
เมื่อถอดแบตเตอรี่ออก เราจะเห็นผังขา (pinout) ของคอนเนกเตอร์ M-Bus และตำแหน่งของโมดูลกล้อง SC2356 ด้านบนของบอร์ดประกอบด้วยตัวเชื่อมต่อโมดูล ESP32-C6-MINI-1U ที่เชื่อมต่อได้ทั้งกับสายอากาศแบบ 3D ภายในและคอนเนกเตอร์สายอากาศภายนอก (สามารถเลือกใช้งานผ่านซอฟต์แวร์), ช่องใส่ microSD card และตำแหน่งสำหรับติดตั้งโมดูล M5Stamp Cat M/NB-IoT หรือ LoRaWAN
เราถอดสายแบตเตอรี่และสายกล้องแบบ FPC (อยู่ทางซ้าย) ออกแล้ว แต่สายไฟอีกสองเส้นถูกบัดกรีติดกับบอร์ดหลัก เราจึงไม่อยากยุ่งกับส่วนนี้เพราะยังไม่ได้เปิดเครื่องเลย แค่แอบมองเข้าไปข้างในก็เห็นแผงวงจรแบบยืดหยุ่นที่มีคอนโทรลเลอร์หน้าจอสัมผัส GT911 และไม่มีอะไรอื่นมากนัก
การใช้งานเฟิร์มแวร์บนชุดพัฒนา ESP32-P4 IoT
ลองใช้งาน Tab5 โดยเชื่อมต่อแบตเตอรี่เข้ากับตัวเครื่อง
ระบบจะบูตเข้าสู่หน้าจออินเทอร์เฟซผู้ใช้โดยอัตโนมัติ ในตอนแรกดูอาจจะดูรกๆ หน่อย แต่จริงๆ แล้วมีประโยชน์มากสำหรับการทดสอบฟีเจอร์ระดับล่างของแท็บเล็ต
ตัวอย่างเช่น เราสามารถแตะที่ไอคอนกล้องทางซ้ายเพื่อเปิดหน้าต่างแสดงภาพสดจากกล้อง หากแตะสองครั้งที่ภาพกล้องจะขยายเต็มหน้าจอ แม้ว่า ESP32-P4 จะมีประสิทธิภาพสูงสำหรับไมโครคอนโทรลเลอร์ แต่เฟรมเรตเมื่อดูแบบเต็มจอจะค่อนข้างต่ำ ประมาณ 1-2 เฟรมต่อวินาที (FPS) เท่านั้น
สวิตช์ RF ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสลับระหว่างสายอากาศ WiFi ภายในเครื่องกับสายอากาศภายนอก และแสดง SSID ทดสอบแบบเปิด (M5Tab5-UserDemo-WiFi) พร้อม IP address ให้ผู้ใช้ลองเชื่อมต่อ เราเลือกใช้สายอากาศภายใน และพิมพ์ IP address นั้นในเบราว์เซอร์ Firefox บนสมาร์ตโฟน Android เพื่อโหลดหน้าเว็บ “Hello World”
เรายังได้ทดลองหรือสำรวจฟีเจอร์อื่นๆ อย่างรวดเร็ว เช่น ปรับความสว่าง (พร้อมดูการเปลี่ยนแปลงของการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์), ปรับระดับเสียง, เล่นเพลง, อัดเสียงตัวเองเป็นเวลา 3 วินาทีแล้วเล่นซ้ำ, ปรับสถานะของขา GPIO, สแกนหาอุปกรณ์ I2C, ส่งข้อความผ่าน RS485, เปิด/ปิดพอร์ต USB และทดสอบโหมดปลุก/พักเครื่องหลายรูปแบบ (แตะหน้าจอเพื่อปลุก, นอนแล้วปลุก และอื่นๆ)
เฟิร์มแวร์เริ่มต้นนี้ถือว่าดีมากสำหรับการสำรวจความสามารถของ Tab5 และไมโครคอนโทรลเลอร์ ESP32-P4 RISC-V ได้อย่างรวดเร็ว โค้ดต้นฉบับสามารถดูได้บน GitHub จึงสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับพัฒนาเฟิร์มแวร์ได้
เนื่องจากแบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์เสริม และ M5Stack ก็วางขาย Tab5 รุ่นที่ไม่มีแบตเตอรี่มาด้วย เราจึงทดสอบชุดพัฒนาด้วยไฟจากพอร์ต USB หลังจากถอดแบตเตอรี่ออก แต่เมื่อเสียบ Tab5 เข้ากับพอร์ต USB บนปลั๊กพ่วง ตัวเครื่องจะบูตวนซ้ำไม่หยุดการเปลี่ยนมาใช้อะแดปเตอร์ชาร์จ USB โดยตรง จะแก้ปัญหานี้ได้ และ Tab5 ก็สามารถทำงานได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่
นอกเหนือจากเฟิร์มแวร์ตัวอย่างแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีแอปพลิเคชันใดที่ออกแบบมาสำหรับ M5Stack Tab5 โดยเฉพาะ ดังนั้นในการรีวิว Part เราวางแผนจะแชร์ประสบการณ์ในการคอมไพล์เฟิร์มแวร์จากซอร์สโค้ดและปรับแต่ง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจประสบการณ์ด้านการพัฒนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณ M5Stack ที่ส่งชุดพัฒนา Tab5 ESP32-P4 มาให้รีวิว โดยบริษัทวางจำหน่ายในราคา $55 (~1,800฿) หรือ $60 (~2,000฿)บนAliExpress และร้านค้าออนไลน์ของบริษัท, โดยราคาจะขึ้นอยู่กับว่าคุณเลือกใช้แบตเตอรี่หรือไม่ หมายเหตุ : สินค้ามีจำนวนจำกัด แต่จะมีล็อตใหม่เข้ามาในเดือนหน้า หากสินค้าหมดสต็อกในตอนนี้ก็อาจต้องรอสองสามสัปดาห์
แปลจากบทความภาษาอังกฤษ : M5Stack Tab5 Review – Part 1: Unboxing, teardown, and first try of the ESP32-P4 and ESP32-C6 5-inch IoT devkit

บรรณาธิการข่าวและบทความภาษาไทย CNX Software ได้มีความสนใจในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Smart Home และ IoT