รีวิว LattePanda Mu : Compute Module x86 ที่ใช้ซีพียู Intel N100 พร้อมทดสอบประสิทธิภาพบน Ubuntu 24.04

หลังจากที่เราได้แกะกล่องและทดสอบ LattePanda Mu พร้อมอุปกรณ์เสริมไปแล้วบน Windows ซึ่งได้ทดสอบการใช้งาน Lite Carrier Board และ Full-Function Evaluation ไปแล้วในรีวิวแกะกล่องและทดสอบการใช้งานบน Windows นั้น

ในรีวิวนี้เราจะมาทดสอบใช้งาน LattePanda Mu บนระบบปฎิบัติการ Ubuntu 24.04 กัน โดยทำการทดสอบมาตรฐานเช่นเดียวกันกับบอร์ดอื่น ๆ คือ

  • การตรวจสอบข้อมูลระบบเบื้องต้น
  • การทดสอบ Benchmark
    • CPU
    • Disk
    • Peripherals
    • Network
  • การทดสอบการใช้งานเว็บและมัลติมีเดียร์
  • การตรวจสอบการใช้พลังงาน
และเนื่องจาก LattePanda Mu เป็นสถาปัตยกรรม X64 ทำให้เราสามารถสร้าง boot disk เพื่อทำการติดตั้ง Ubuntu 24.04 ได้เหมือนการติดตั้งทั่วไปเลย โดยหลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว เราจะมาตรวจสอบข้อมูลระบบเบื้องต้นกันในหัวข้อด้านล่าง

ข้อมูลระบบเบื้องต้น


โดยเราทำการติดตั้ง Ubuntu 24.04 ลงไปบน eMMC ขนาด 64MB และแรมขนาด 8GB ถูกใช้โดยระบบไปเพียง 933MB เท่านั้น จากนั้นเราทำการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมด้วยคำสั่ง inxi เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์อื่น ๆ ในระบบ

การทดสอบประสิทธิภาพของ LattePanda Mu

หลังจากตรวจสอบข้อมูลของระบบไปแล้ว เราเริ่มการวัดประสิทธิภาพของ LattePanda Mu ด้วยสคริปต์ Thomas sbc-bench.sh กันเป็นอันดับแรก โดยสามารถอ่านผลการทดสอบฉบับเต็มได้ที่ 0x0.st/XpX6.bin

ข้อมูลของระบบที่ได้จากการทดสอบ

จะแสดงค่าคุณสมบัติของ CPU Intel(R) N100 ตามข้อมูลด้านล่าง โดยชื่อของ Bios model แสดงว่า CPU ถูกจำกัดความเร็วไว้ที่ 2.8GHz

การทดสอบ Benchmark ด้วย 7-zip


โดยจากผลการทดสอบเมื่อทดสอบ stress แบบ full load ด้วย 7-zip multi core จนอุณหภูมิขึ้นไปที่ 84.0 °C  พบว่ามีการจำกัดความเร็วของสัญญาณนาฬิกา CPU จากการทดสอบสูงสุดอยู่ที่  3,100MHz ที่อุณหภูมิ CPU 60°C และค่อยๆ ลดลงเหลืออยู่ที่ 2,900MHz  ที่อุณหภูมิเกิน 75°C แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ Active cooling Fan ที่ไม่สามารถระบายความร้อนเมื่อ CPU ทำงานหนักมากได้ดีพอ โดยในห้องทดสอบที่มีอุณหภูมิแวดล้อมประมาณ 29°C พัดลมทำงานตลอดเวลาที่ทดสอบ


ในส่วนของแบนด์วิดท์หน่วยความจำและผลลัพธ์แบบ 7-zip ทำได้ดี โดยเมื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของ memcpy และ memset แล้วทำได้ดีกว่า Intel N95 และ Celeron N5100
ในขณะที่ประสิทธิภาพ 7-zip ของ ODROID-M1S นั้นดีกว่า Celeron N5105 อ้างอิง: https://github.com/ThomasKaiser/sbc-bench/blob/master/Results.md

การทดสอบประสิทธิภาพของ eMMC และ NVMe SSD

  • eMMC


เราทดสอบโดยการให้อ่านเขียนข้อมูล raw โดยปิดการใช้งาน cache ค่าความเร็วในการอ่านอยู่ที่ประมาณ 301 MB/s  และความเร็วในการเขียนอยู่ที่ 104 MB/s ซึ่งความเร็วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ของ eMMC 5.1 ตามที่ระบุไว้

  • NVMe SSD


ในส่วนของการทดสอบ NVMe นั้นรุ่นที่ใช้ทดสอบเป็น WD_BLACK SN770 NVMe™ SSD  ซึ่งเป็น SSD NVMe รุ่นที่รองรับ PCIe 4.0 (ความเร็ว Sequential Read ที่ 4,000 MBps และ Sequential Write ที่ 2,000 MBps )แต่เนื่องจากบอร์ด LattePanda Mu นั้นรองรับเฉพาะ PCIe 3.0 X4 ทำให้ค่าความเร็วในการอ่านอยู่ที่ประมาณ 2.994 GB/s และความเร็วในการเขียนอยู่ที่ 1.742 GB/s ใกล้เคียงกับการทดสอบด้วย CrystalDiskMark บน windows ในรีวิวก่อนหน้านี้ [เปรียบเทียบ]

การท่องเว็บ

ถึงเวลาดูประสิทธิภาพการท่องเว็บ โดยเราจะใช้ Speedometer 2.0 เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในแต่ละเว็บบราวเซอร์ ซึ่งบน Ubuntu จะมีเพียง Firefox ติดตั้งมาให้ เราต้องทำการติดตั้ง  Chromium เพิ่มด้วยตัวเอง
Chromium
lattepanda mu speedometer2 chrome
โดยค่าจากการทดสอบอยู่ที่ 181 บน chromium ซึ่งสูงกว่าบน firefox ราว ๆ 12%

Firefox
lattepanda mu speedometer2 firefox
ผลการทดสอบบน firefox ได้คะแนนที่ 160 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับบอร์ด Raspberry Pi ที่ได้คะแนนที่ 56 แล้วจะพบว่า คะแนนของ LattePanda Mu สูงกว่าราว ๆ 3 เท่า

การทดสอบกราฟฟิค

Glmark2

เราทดสอบด้วยคำสั่ง  glmark2-es2-wayland เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ โดย glmark2 Score ได้ค่าที่ 3220 คะแนน ซึ่งสูงกว่า Raspberry Pi 5 ที่ได้ 2036  แต่ก็ต่ำกว่า RK3588 ที่ได้สูงถึง 4,500 คะแนน

LattePanda mu ubunbtu24 glmark2 es2 wayland

WebGL Aquarium demo

การทดสอบด้วย WebGL Aquarium demo บน Chromium  ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจสามารถทดสอบได้ 37 fps ที่ปลาจำนวน 30,000 ตัว ซึ่งถ้าเปรียบกับตัวแรงอย่าง RK3588s ทำได้ 31 fps ที่ 5,000 ตัว [อ้างอิง]

LattePanda mu ubunbtu24 chromium webgl

การทดสอบเล่น YouTube และวิดีโอ

ในส่วนของการทดสอบการเล่นวิดีโอบน Youtube ด้วยความละเอียด 4k ที่ 30 fps สามารถเล่นไฟล์ได้โดยไม่ปรากฎ frame drop  ให้เห็น

LattePanda mu ubunbtu24 chromium youtube 4k 30fps

จากนั้นเราการทดสอบการเล่นวิดีโอบน Youtube ด้วยความละเอียด 4k ที่  60 fps สามารถเล่นไฟล์ได้โดยมี frame drop ที่ราว ๆ 4.5 % ซึ่งน้อยมากไม่สามารถสังเกตการกระตุกได้ด้วยสายตา

LattePanda mu ubunbtu24 chromium youtube 4k 60fps

การเล่นไฟล์ Video

การทดสอบเล่นไฟล์ codec H.264 ความละเอียด Full HD(1920 x 1080) ด้วยโปรแกรม VLC สามารถเล่นได้ ดีโดยไมี frame drop ที่ต่ำมาก

LattePanda mu ubunbtu24 VLC mp4 1080 30fps

ข้อสังเกตคือพัดลมทำงานเต็มรอบทันทีที่เริ่มเล่นไฟล์วิดีโอโดยเราทดสอบด้วยวิดีโอ Big Bug Bunny เรื่องการถอดรหัสเสียงต่าง ๆทำได้ครบถ้วน

ubuntu24 VLC mp4 codec 1080 30fps

จากนั้นเราทดสอบเล่นไฟล์ที่เป็น H.265 ที่ความละเอียด 4K@30fps ก็สามารถเล่นไฟล์ได้โดยไม่มีการกระตุกเมื่อเปิดดูค่าสถิติก็จะพบว่ามี frame drop ที่น้อยมาก ๆ

ubunbtu24 VLC h265 4k 30fps

ubunbtu24 VLC h265 codec 4k 30fps

ทดสอบประสิทธิภาพของ LAN และ Wi-Fi

ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครือข่ายเราจะทำการทดสอบความเร็วของ LAN และ Wi-Fi โดยการทดสอบด้วยโปรแกรม iperf3

iperf3  บน ETH0 ซึ่งบอร์ด Full-Function Evaluation ระบุไว้ว่า ethernet มีความเร็วที่ 2.5Gbps แต่ในสถานที่เขียนรีวิวนี้มี gigabit switch ธรรมดาเท่านั้น จึงทดสอบได้เพียงความเร็วสูงสุดที่ 1Gbps

ubuntu24 iperf3 ethernet


จากคุณสมบัติของบอร์ดที่แจ้งว่า ethernet port เป็น gigabit เมื่อเราทดสอบที่ port ETH0 ก็พบว่าความเร็วในการส่งข้อมูลทำได้ที่  943 Mbits ต่อวินาที  เป็นความเร็วที่ทำได้ดี  โดยตอนทดสอบได้ทำการเชื่อมต่อระหว่างเครื่อง server และ client ของ iperf3 ผ่าน router Xiaomi Router AX3200

iperf3  บน WLAN0

ubuntu24 iperf3 wlan


ในการทดสอบความเร็วของ Wi-Fi นั้น เราใช้โมดูล M.2 RTL8822CE (Wi-Fi 5) เราทำทดสอบโดยใช้เน็ตเวิร์ค 5GHz ของ Xiaomi Router AX3200 ซึ่งความเร็วในการรับส่งข้อมูลเฉลี่ยนอยู่ที่ 592 Mbps ก็ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน AC600

การทดลองใช้งาน GPIO

เนื่องจากข้อมูลจากทาง LattePanda มีน้อยมากเกี่ยวกับการใช้งาน  GPIO ทั้งในแง่ของ IO และการใช้งานเป็น UART,I2C และ SPI โอยอ้างอิงจากเอกสารจะมีข้อมูลว่าการสนับสนุนดังนี้

  • 4x UART, 4x I2C
  •  สูงสุด 64x GPIO

ซึ่งไม่พบเอกสารที่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เราสามารถต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมกับบอร์ด LattePanda Mu ได้ โดยข้อมูลที่พบมีเพียง Dev Status เท่านั้น ที่แจ้งให้ทราบว่าการพัฒนาส่วนของ GPIO ยังไม่สมบูรณ์ แต่ I2C,SPI และ UART ใช้งานได้แล้ว
แต่ก็ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมใด ๆ ซึ่งเราจะทำการตรวจสอบดังแต่ในส่วนของไฟล์ และการใช้งานเท่าที่พอจะทำได้กัน

  • I2C

เริ่มต้นจากการที่เราตรวจสอบระบบไฟล์ I2C ในเครื่องก่อนได้ผลลัพธ์ดังนี้


จากนั้ันเราได้ทำการติดตั้ง i2c-tools ลงไปเพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลของ I2C ของ LattePanda Mu ซึ่งพบว่าเราสามารถ scan ตรวจพบ port ต่าง ๆ เพื่อดูการตอบกลับของอุปกรณ์เชื่อมต่อที่ address ต่าง ๆ ได้ เพียงสอบพอร์ตเท่านั้นคือ I2C-5 และ I2C-7


โดยหลังจากทดสอบเชื่อมต่อ Proximity sensor ที่เป็น I2C เข้าไปยังบอร์ด ก็ไม่สามารถ scan พบอุปกรณ์ได้ ดังนั้นข้อมูลในส่วนนี้คงต้องรอเอกสารจาก LattePanda ต่อไป โดยไม่ได้ทำการทดสอบต่อในส่วนของ UART และ GPIO

ทดสอบการใช้พลังงาน

การทดสอบวัดการใช้พลังงานของ LattePanda Mu บนบอร์ด โดยใช้ USB power meter ได้ค่าผลลัพธ์ขณะทดสอบดังนี้

  • ปิดเครื่อง – 0.33 วัตต์
    LattePanda mu shutdown power consumption
  • ช่วงบูตเครื่อง – 9.9 วัตต์
    LattePanda mu POST power consumption
  • ไม่ได้ใช้งาน   5.6วัตต์ (ต่อจอ HDMI, WiFi, LAN เท่านั้น)
    LattePanda mu idle power consumption
  • วิดีโอ YouTube 4K@60FPS ใน Chromium (เต็มหน้าจอ) – เฉลี่ยที่ 20 วัตต์
    youtube4k power consumption
  • การทดสอบแบบทำงานเต็มที่บนทั้ง 4 คอร์ ด้วย 7Zip Benchmark  –เฉลี่ยที่ 22 วัตต์
    fullload stress power consumption

สรุปการใช้งานและทดสอบประสิทธิ์ภาพของ LattePanda Mu บน Ubuntu 24.04

จากการทดสอบการใช้งาน LattePanda Mu บน Ubuntu 24.04 นั้นพบว่าการใช้งานเป็นไปได้อย่างราบรื่น สามารถตรวจพบอุปกรณ์ต่าง ๆ และมีไดรเวอร์รองรับทั้งหมด
การทดสอบประสิทธิภาพต่าง ๆ ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับที่ทดสอบบน Windows เลยทีเดียว แต่การพยายามจะใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์ประจำวันก็พบปัญหาเรื่องของประสิทธิภาพการระบายความร้อนของชุดพัดลม Active cooling ที่ยังระบายความร้อนได้ดีไม่เพียงพอที่โหลดของ CPU สูง ๆ และต้องประสบความล้มเหลวจากการพยายามประกอบลงในเคส ITX เรื่องจากบอร์ด Full carrier นั้นมีขนาดใน form factor ITX แต่การจัดวางตำแหน่งของพอร์ตต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของเมนบอร์ดเลยไม่สามารถประกอบลงไปในเคสได้

และที่น่าเสียดายคือในขณะนี้ GPIO ยังไม่มีไดรเวอร์ให้สามารถทำการทดสอบได้ [อ้างอิง] หากมีการอัพเดตจาก LattePanda  จะทำการมาเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนนี้ในภายหลัง

แต่อย่างไรก็ตาม LattePanda Mu ถือว่าเป็น Compute Module ที่ใช้งานได้ง่าย สามารถทำให้เราออกแบบโซลูชั่นงานของเราได้ง่าย เพราะส่วนประมวลผลทั้งหมดอยู่บน Compute Module อยู่แล้ว เพียงทำ breakout สำหรับจ่ายไฟและการเชื่อมต่อเครือข่ายก็พร้อมใช้งานได้ทันที หรือหากต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์เพิ่มก็สามารถออกแบบเพิ่มได้ทันทีเพราะบน Compute Module มี USB,PCIe และ GPIO ให้พร้อม บน SO-DIMM ขนาด 260 ขา

ซึ่งต้องขอขอบคุณ DFRobot ที่ได้ส่งบอร์ด LattePanda Mu และ carrier บอร์ดรวมถึงอุปกรณ์เสริมมาให้ทำการรีวิว หากสนใจในตัวผลิตภัณฑ์นี้ สามารถสั่งซื้อได้ทาง เว็บไซต์ของ DFRobot ราคาขึ้นอยู่กับตัวเลือก เช่น บอร์ด LattePanda  $139.00 + Full-Function + Fanless Heatsink + Power Supply 19V 90W AC/DC ราคา $274.90 (~10,000฿) หรือบน Amazon ราคา $199(~7,100฿) สำหรับโมดูล, Lite carrier board, และ active cooler

Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
โฆษณา