ในที่สุดเราก็ได้ผลิตภัณฑ์ Matter ตัวแรกของ SONOFF มาลองทดสอบ ซึ่งก็คือรุ่น Mini Extreme Switch (MINIR4M) นั่นเอง โดยรูปลักษณ์ภายนอกใกล้เคียงกับ Mini Extreme Switch Wifi (MiniR4) ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้า และเราเคยรีวิวไปแล้ว มีแถบสีคาดที่ต่างกันเพื่อให้ดูออกว่าอันไหน WiFi และ อันไหน Matter นั่นเอง ในการทดสอบนี้เราได้ทำกับแพลตฟอร์ม Smart Home หลายๆค่ายที่สนับสนุน Matter เช่น Home Assistant, Apple HomeKit, Google Home รวมถึง eWeLink เอง มาดูกันว่าการทำงานและฟีเจอร์จะต่างกันมากน้อยขนาดไหน
อย่างที่หลายคนทราบกันมาบ้าง Matter เป็น control protocol ในขณะที่ Thread เป็น communication protocol ทั้งสอง protocol สามารถใช้งานร่วมกันหรือไม่ก็ได้ Matter สามารถทำงานบน communication protocol ได้หลายหลากไม่ว่าจะเป็น Wifi, Ethernet, BLE หรือ Thread ซึ่งมีความแตกต่างปลีกย่อยลงไป เช่นเรื่องการประหยัดพลังงาน หรือ Network Topology ที่สำคัญคือ Matter เป็น layer บนซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ทำให้อุปกรณ์ทำงานด้วยกันได้ (interoperability) ในระยะเริ่มต้นเราคงเห็นอุปกรณ์ Matter ที่ใช้ร่วมกับ Wifi ออกมาก่อนเพราะใช้งานง่าย สะดวก ไม่ต้องสร้างเครือข่ายใหม่ และยังไม่ต้องลงทุนซื้อ Thread Router อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ในตลาดบางค่ายมองการณ์ไกลของสิ่งที่กำลังจะมา จึงได้ออกแบบ Hardware ที่สามารถอัพ firmware เป็นระยะๆเพื่อสนับสนุนโปรโตคอล Thread (2.4GHz) ได้เช่น Apple HomePod
Matter พัฒนาโดย CSA(Connectivity Standards Alliance) ซึ่งสนับสนุนโดยหลายๆบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Apple, Amazon, Google, LG, Samsung ไปจนถึงบริษัทเล็กๆ เป็นความหวังของสาวก Smart Home ที่ต้องการมีมาตรฐานกลางในการสื่อสารกันระหว่างอุปกรณ์ สร้างทางเลือกที่มากขึ้น รวมถึงราคาที่ถูกลง
อีกเหตุผลนึงที่ Matter เข้ามาช่วยให้ชีวิตดีขึ้นคือ เนื่องจาก Matter ecosystem ต้องการ Matter Hub ซึ่งต้องอยู่ใน subnet เดียวกัน ดังนั้นการทำงานจึงเป็นแบบ local โดยปริยาย ซึ่งเสถียรกว่า เร็วกว่าเมื่อเทียบกับแบบเดิมๆที่ผ่าน cloud โดยเฉพาะเวลาที่เน็ตล่ม หรือ cloud server ล่ม ระบบ smart home ของเรายังคงทำงานอยู่)
มาแกะกล่องและเปิดดูด้านในของ SONOFF MINIR4M
เมื่อเปิดกล่องดูก็พบเจ้า Mini Extreme ขนาดจิ๋วพร้อมคู่มือเช่นเคย ที่กล่องมี Logo ของ Matter อยู่ และสีที่คาดตัวอุปกรณ์เป็นสีเขียวอ่อนซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุน Matter ซึ่งจริงๆแล้วทาง SONOFF ทำเป็นปกติในการใช้แถบคาดสีแยกแยะอุปกรณ์ที่มีโปรโตคอลต่างๆกัน เช่น Zigbee,Wifi และ Matter เปิดกล่องแล้วอย่าเพิ่งทิ้งนะ ด้านหลังคู่มือมี QR code และ setup code เพื่อเอาไว้สแกนเวลาลงทะเบียนเข้าแพลตฟอร์มแอป Smart Home ต่างๆ
เราลองมาแกะดูภายในก็พบชิป ESP32-C3 ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นชิปยอดนิยมของอุปกรณ์ SONOFF ไปละ ESP32-C3 เป็น 32 bit single core สนับสนุน Bluetooth 5 (Low Energy) และมี security ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ ESP8285 ในรุ่นแรกๆของ SONOFF อีกอย่างคือพวก ESP มัน flash เฟริมแวร์ตัวอื่นได้ง่าย อย่างไรก็ตามสำหรับตัว MINIR4M นี้ทาง SONOFF บอก flash ค่ายอื่นไม่ได้เพราะติดเรื่อง Security Specification แต่ถ้าจะ flash จริงๆก็ให้ไปใช้รุ่น MiniR4 Wifi แทนซึ่งอันนั้นก็ใช้ ESP32 มีฟีเจอร์และขนาดที่เหมือนๆกัน
สเปค
- MCU – Espressif Systems ESP32-C3FN4 dual-core wireless microcontroller
- การเชื่อมต่อ
- 2.4 GHz WiFi 4
- Bluetooth LE ใช้สำหรับจับคู่
- การรับรอง Matter
- อินพุต – 100-240V ~ 50/60Hz สูงสุด 10A, 2400W @ 240V
- เอาต์พุต – 100-240V ~ 50/60Hz สูงสุด 10A (Resistive Load หรือโหลดที่เป็นตัวต้านทาน)
- ขนาด – 39.5 x 33 x 16.8 มม.
- วัสดุเคส – PC V0
- ได้รับการรับรองจาก TÜV, CE และ FCC
การใช้งาน Use Case
การนำไปประยุกต์ใช้งานก็จะไม่ต่างจาก Use Case ที่เรารีวิวมาใน SONOFF MINI Extreme (MINIR4) และ ZBMINI Extreme (ZBMINIL2) โดยทั่วๆไปมันคือ Mini Switch ที่เราสามารถเอาไปต่อและควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆเช่น ไฟแสงสว่าง พัดลม โคมไฟ กริ่ง ลูกลอย สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในตัวนี้คือ Matter ทำให้ใช้งานกับหลายค่ายมากขึ้น ไม่ต้องมองหาโลโก้สำหรับค่ายนั้นค่ายนี้ตราบใดที่สนับสนุน Matter สำหรับแฟนๆ Home Assistant ก็คงไม่ได้รู้สึกความว้าวมากนักเพราะระบบ Home Assistant มันถูกออกแบบให้ทำงานกับอุปกรณ์ค่ายต่างๆเป็นปกติอยู่แล้วโดยผ่าน Integration หลากหลาย แต่สำหรับแพลตฟอร์มอื่น อันนี้เป็นจุดเด่นเลยเพราะ การเลือกซื้ออุปกรณ์ทำได้ง่ายและน่าจะถูกลงเพราะทางเลือกมากขึ้น โดย Matter เป็นตัวเปลี่ยนเกมส์
การใช้งานและลงทะเบียนใน Home Assistant
เวอร์ชั่นที่เราทดสอบคือ Home Assistant 2023.8.4 บน Operating System 10.5 ทำงานบนRasberry Pi4 จุดสำคัญอย่างแรกเลยคือ ตัว Home Assistant server ต้องเปิด ipv6 รวมถึง mDNS ที่เครือข่ายด้วยซึ่งเป็น Matter Prerequisite ใน Home Assistant โปรโตคอล Matter จะทำงานขี่อยู่บนเครื่อข่าย TCP/IP นั่นหมายถึงเราไม่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายใหม่ เช่น Zigbee หรือ ZWave ยกเว้นถ้าเราต้องการใช้ Thread พร้อมๆกันไปด้วย ซึ่งต้องมีอุปกรณ์เน็ตเวอร์ทเพิ่มเติม คือ Thread Boarder Router
ณ วันที่เรารีวิวและทดสอบ Matter ใน Home Assistant มันยังเป็น Beta 1.0 แต่หลังจากการลองใช้ดู ก็ไม่ได้เจอปัญหามากมาย จุดหลักๆคือเรื่อง IPv6 กับ mDNS เท่านั้น เราได้ทำการลง Matter Integration (Beta) ซึ่งรวมไปถึงติดตั้ง Matter Add on เพื่อให้ Home Assistant เป็น Matter Hub และ สร้างเครือข่าย Matter ในการพูดคุยกับอุปกรณ์ปลายทาง
การเพิ่มหรือลงทะเบียนทำได้โดยการสแกน QR code ที่ด้านหลังอุปกรณ์ซึ่งต้องทำผ่านมือถือ (มีกล้องถ่ายภาพ) โดยรวมขั้นตอนนี้จะเหมือนๆกันกับการละทะเบียน Smart Home ค่ายอื่นๆ การทำการละเบียนก็ให้กดปุ่มบน Mini4M ค้างไว้ 5s เพื่อเข้า Pairing mode มันง่ายกว่าที่คิดไว้จริงๆ สิ่งที่เราได้หลังจากลงทะเบียนไปคือ Control Switch ไม่มีฟีเจอร์พิเศษในแบบที่เราเจอในแอปของมันเอง (eWeLink) เช่น Inching หรือ Detach Relay ซึ่งทาง SONOFF ได้ทำตารางเปรียบเทียบไว้ว่าอะไรที่ได้อะไรที่ไม่ได้ในแพลตฟอร์มต่างๆกัน ดูตารางสรุปที่ท้ายบทความ
การใช้งานและลงทะเบียนใน Apple HomeKit
เช่นกัน ใน Apple HomeKit เราต้องมี Matter Hub ก่อนซึ่งใน ecosystem ของ Apple ก็จะมีพวก HomePod, HomePod mini , Apple TV หรือแม้กระทั่ง iPad ที่สามารถทำตัวเป็น Matter Hub วิธีลงทะเบียนก็ใช้ Apple HomeKit บน iOS ทำการเพิ่ม Accessory โดยการสแกน barcode เช่นกัน หลังจากนั้นก็ทำตามขั้นตอนในรูป เป็นอันเสร็จพิธี ผลที่ได้ก็คล้ายๆกับ Home Assistant คือเห็นแค่สวิตซ์เปิดปิด ส่วนฟีเจอร์ปลีกย่อยเช่น Inching, Detach Relay ไม่ปรากฏ และแน่นอนเราสามารถสร้าง Automation ในแอป HomeKit นี้เพื่อควบคุมการทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ
การลงทะเบียนใน Google Home
ยังคงใช้หลักการเดิมของ Matter ใน Ecosystem ของ Google นั้นเราต้องมี Matter Hub อุปกรณ์จาก Google ที่ทำหน้าที่นี้ก็เช่น Google Home speaker, Google Home Mini, Nest Mini, Nest Audio, Nest Hub (1st and 2nd gen), Nest Hub Max และ Nest Wifi Pro ขั้นตอนการละทะเบียนก็ตามรูปด้านล่าง ซึ่งคล้ายกับ Apple HomeKit ขั้นตอนดูตามรูปด้านล่างได้เลย
การใช้งานพร้อมๆกันจากแอปต่างค่าย (Multiple Platform)
หลังจากที่ลอง setup กับแต่ละค่ายไปแล้ว สังเกตุว่าขั้นตอนจะคล้ายๆกัน ง่าย คราวนี้เราจะมาลองการลงทะเบียนใช้งาน MINIR4M ตัวเดียวกับ Smart Home หลายๆแพลต์ฟอร์มพร้อมๆกัน ซึ่งทาง SONOFF ได้บอกว่าตัว MINIR4M สามารถใช้งานจาก Smart Home แพลตฟอร์มต่างค่ายได้พร้อมๆกันและสถานะก็จะถูก sync ไปยังทุกค่าย เราเลยไม่รอช้าทำการทำลองโดยมี Apple HomeKit, Google Home, Home Assistant และ eWeLink ในการทดสอบโดยเรียงตามลำดับการลงทะเบียนตามที่กล่าวมา ขั้นตอนมีดังต่อไปนี้
- กดปุ่มที่ MINIR4M ค้างไว้ 5 วินาที ซึ่งก็คือการ pairing mode ตามปกติ
- เปิด Apple HomeKit แอปแล้วทำการ Add Accessory ตามด้วยสแกน barcode แล้วทำตามขั้นตอนลงทะเบียน จนกระทั่งการเพิ่มอุปกรณ์สำเร็จ ถึงจุดนี้อุปกรณ์ก็พร้อมใช้งานใน HomeKit
- ไปที่ Setting ของ MINIR4M ภายใน HomeKit และเลือก Turn On Paring Mode ตามด้วยคัดลอก Pairing Code ไว้สำหรับใช้ในขั้นตอนถัดไป ณ ตอนนี้จะเห็นไฟกระพริบที่ MinkiR4M แสดงว่าได้เข้าโหมด pairing (ห้ามกดปุ่มที่ MINIR4M เหมือนขั้นตอนแรกเด็ดขาดเพราะจะทำให้อุปกรณ์รีเซ็ต ต้องทำในแอปแทน)
- เปิด Home Assistant Companion แอปบนมือถือแล้วไปที่ Settings เลือกเพิ่ม Matter Device ตามด้วยสแกน barcode แล้วทำตามขั้นตอนการลงทะเบียน จนกระทั่งการเพิ่มอุปกรณ์สำเร็จ เราจะเห็น MINIR4M ปรากฏใน Entities และ Devices พร้อมใช้งาน
- หลังจากที่เพิ่มอุปกรณ์สำเร็จใน Home Assistant ก็ให้กลับไปที่ Setting ของ MINIR4M ใน HomeKit อีกครั้งและเลือก Turn On Paring Mode ตามด้วยคัดลอก Pairing Code สำหรับใช้ในขั้นตอนถัดไป ณ ตอนนี้จะเห็นไฟกระพริบที่ MinkiR4M แสดงว่าได้เข้าโหมด Pairing (ห้ามกดปุ่มที่ MINIR4M เด็ดขาดเพราะจะทำให้อุปกรณ์รีเซ็ต) หมายเหตุการเจน pairing code ต้องทำที่แพลตฟอร์มแรก (ในที่นี้คือ HomeKit) เสมอ
- เปิด Google Home แอป แล้วเพิ่มอุปกรณ์ ทำการสแกน barcode แล้วทำตามขั้นตอนการลงทะเบียน จนกระทั่งการเพิ่มอุปกรณ์สำเร็จ เราจะเห็น MINIR4M ปรากฏใน Google Home พร้อมใช้งาน
- เปิด eWeLink แอปแล้วกดปุ่ม + บริเวณด้านบนขวาสุด เลือก Add Device เลือก network ให้เหมาะสม (2.4GHz) แอปจะ scan จนเจอ MINIR4M กด + เพื่อเพิ่มเข้าไป ทำตามขั้นตอนที่เหลือจนกระทั่งการลงทะเบียนสำเร็จ
- ในกรณีมีการ Offline เกิดขึ้นในบางแอปด้านบน กรุณารอสักพักเพื่อให้ระบบทำการ synchronous ให้ครบถ้วนก่อน อาจจะกินเวลาหลายนาที
- ตอนนี้เราก็จะได้ MINIR4M ทำงานในหลายๆแพลตฟอร์ม Smart Home พร้อมๆกันและสถานะก็ sync กันเป็นหนึ่งเดียว มันแจ๋วมากเลยล่ะ
ตารางเปรียบเทียบ
เนื่องจาก MINIR4M ใช้ Matter เป็นมาตรฐานในการต่อเชื่อมอุปกรณ์ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงทุกแพลตฟอร์มจะมีฟีเจอร์เหมือนกันหมด เรามาดูตารางที่ทาง SONOFF สรุปว่าถ้าเอา MINIR4M ไปใช้ใน SmartHome แพลต์ฟอร์มต่างๆแล้วจะมีข้อแตกต่างตรงไหนบ้าง แน่น่อนถ้าใช้กับ eWeLink จะได้ฟีเจอร์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Power-on state, Inching, Switch Mode, Detact Relay อย่างไรก็ตามเราก็อาจไม่จำเป็นต้องเลือกแพลตฟอร์มนะ ใช้มันพร้อมๆกันนี่แหละเนื่องจากว่ามันสามารถทำงานโดยรับคำสั่งจากหลายแพลตฟอร์ม เช่น เราอาจจะตั้งค่า schedule มาจาก Home Assistant หรือ HomeKit แต่มีการตั้งค่า Inching, Notification หรือ Power On state ใน eWeLink ได้ และสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีจากที่เราทดสอบ
บทสรุป
การรีวิวนี้ก็จะค่อนข้างกระชับ เพราะ MINIR4M ไม่ใช่สิ่งใหม่ทั้งหมด เพียงแค่เพิ่มความสามารถของ Matter เข้ามาในขณะที่ฟีเจอร์อื่นๆจะคล้ายรุ่นพี่ MiniR4 Wifi จุดประสงค์หลักคือเพื่อให้มันสามารถใช้งานข้ามแพลตฟอร์มต่างๆได้หลากหลายขึ้นมากขึ้น เราคิดว่าอุปกรณ์ Matter ตัวอื่นๆจาก SONOFF คงจะทยอยออกมาเรื่อยๆ นอกจาก MINIR4M แล้วก็จะมีตัว iHost ซึ่งสามารถโหลด Matter Add-on เพื่อให้อุปกรณ์ภายใต้การควบคุมของ iHost สามารถเห็นโดยค่ายอื่นผ่านโปรโตคอล Matter ได้ (มันก็คือทำ bridging)
จากที่เราลองทดสอบดู การใช้ Mini4M กับ eWeLink platform ของ Sonoff จะให้ลูกเล่นที่เยอะกว่าเพราะเป็นแอปของ SONOFF เอง ในขณะที่ถ้าใช้กับค่ายอื่นฟีเจอร์บางอย่างจะหายไปบ้าง อย่างไรก็ตามมันไม่เป็นปัญหานะด้วยเหตุผลที่เรากล่าวไปว่าเอาฟีเจอร์มาผสมกันได้จากหลายแพลตฟอร์ม
สำหรับสาวก DIY จากโลก Home Assistant / Tasmota ตัวนี้ทาง Sonoff จะไม่ให้ flash firmware ตัวอื่น เพราะเหตุผลด้าน security specification (จริงๆแล้วมันน่าจะทำได้เพราะใช้ esp32 ภายใน) แต่ทาง SONOFF ก็ให้ทางเลือกมาโดยถ้าต้องการ flash ก็ให้ใช้รุ่น wifi แทนนั่นก็คือ Mini Extreme 4 ( MINIR4M)
สุดท้ายนี้ Matter ทำให้ Smart Home น่าสนใจขึ้นมาก โดยเฉพาะผู้ใช้ระดับพื้นฐานที่ต้องการลดความซับซ้อนในการติดตั้งลง เราน่าจะเห็นอุปกรณ์ Matter ทยอยสู่ตลาดมากขึ้นในปลายปี 2023 ผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้น ปวดหัวน้อยลงกับการใช้ข้ามค่าย ทางคนสร้างผลิตภัณฑ์ก็ดูเหมือนจะมีงานน้อยลงเพราะไม่จำเป็นต้องพัฒนาให้สนับสนุนหลากหลาย API น่าสนใจไม่น้อยกับอนาคตของ Matter
ขอขอบคุณทางบริษัท ITEAD ที่ส่ง Mini Extreme Wi-Fi Smart Switch (MINIR4M) มาให้รีวิวในครั้งนี้, สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์ในราคา $12.90(~470฿) และสามารถใช้โค้ดคูปอง CNXSOFTSONOFF เพื่อรับส่วนลด 10% สำหรับการสั่งซื้อในร้าน ITEAD
วิศวกรคอมพิวเตอร์สาย Infrastructure ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีทางด้าน IOT เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Smart Home, Smart Farm และยังสนใจในนวตกรรมเกี่ยวกับ Sustainability เช่น Renewable Energy และ Organic Food