เราได้ทำการรีวิวเราเตอร์ที่ส่งมาจากจีนเป็นเป็นระยะๆ เช่น Xiaomi Mi AX6000, GL.iNet Spitz AX, NanoPi R6S และรุ่นอื่นๆ ในช่วงปลายปี 2024 มีบริษัทได้เสนอให้เรารีวิว OpenWrt One และ GL.iNet GL-X2000 “Spitz Plus” ซึ่งเป็นเราเตอร์ WiFi 6 และ 4G LTE แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำการรีวิวได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบ หรือที่จริงแล้วมีมานานแล้วแต่ช่วงนี้เข้มงวดขึ้น ซึ่งทำให้นำเราเตอร์เข้ามาในประเทศมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะตอนนี้ต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)
บริษัท Software Freedom Conservancy ได้ส่งเราเตอร์ OpenWrt One ผ่าน UPS ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2024 และได้รับอีเมลจากบริษัทขนส่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งมีข้อความบางส่วนระบุว่า:
เนื่องจากสินค้าที่คุณนำเข้าส่งเป็น เราเตอร์ จำเป็นต้องใช้ ใบอนุญาตนำเข้า ดังนั้น UPS ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้าแทนลูกค้าได้
กรุณาหาตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากรรายอื่นเพื่อล้างพิธีการศุลกากรของไทย ตามรายละเอียดด้านล่าง
กรุณาเลือกตัวเลือกที่สะดวกที่สุดสำหรับคุณ:
ตัวเลือกที่ 1 ใช้ตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากรรายอื่น คุณสามารถค้นหาตัวแทนได้จาก Google โดยใช้คำค้นหา: Shipping at Suvarnabhumi Airport ลิงก์: [google.com]
ตัวเลือกที่ 2 ปฏิเสธพัสดุและให้ศุลกากรไทยทำลายสินค้า (ศุลกากรไทยไม่อนุญาตให้ส่งคืนพัสดุกลับไปยังผู้ส่ง ดังนั้นสินค้าจะถูกทำลายเท่านั้น)
ดังนั้นฉันจึงมีทางเลือกสองทาง คือขอใบอนุญาตจาก กสทช. หรือทิ้งพัสดุไปเลย ฉันจึงพยายามติดต่อบริษัทตัวที่ที่พบใน Google แต่ไม่มีใครตอบอีเมลเลย อาจเป็นเพราะเราต้องการนำเข้าเพียงเราเตอร์เครื่องเดียว
ต่อมา เราได้รับอีเมลจาก GL.iNet เกี่ยวกับการจัดส่งเราเตอร์ Spitz Plus เรื่อง “GL.iNet: Spitz Plus Beta Test Follow Up on NBTC License” (ติดตามเรื่องใบอนุญาต กสทช. สำหรับการทดสอบเบต้า Spitz Plus):
ขอขอบคุณสำหรับความสนใจและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใหม่ของเรา Spitz Plus
เราต้องการตรวจสอบว่าคุณมีใบอนุญาตของ กสทช. หรือไม่ เนื่องจากกฎระเบียบของบริษัทขนส่งและศุลกากร เราจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากคุณในการจัดเตรียมเอกสารนี้ ใบอนุญาตนี้มีความจำเป็นสำหรับการดำเนินพิธีการศุลกากร หากไม่มีเอกสารนี้ พัสดุจะไม่สามารถผ่านศุลกากรได้ และอาจถูกทำลายหรือส่งคืนมายัง
ถ้าคุณไม่มีใบอนุญาต กสทช. กรุณาให้ที่อยู่อื่นแทน
ตอนนั้นเราเริ่มเข้าใจแล้วว่า ใบอนุญาต กสทช. เป็นเรื่องที่จริงจัง และอาจมีผลกระทบกับการส่งเราเตอร์ทุกเครื่องมายังประเทศไทย เราจะเข้าใจหากต้องขอใบอนุญาตเมื่อมีการนำเข้าเราเตอร์หลายเครื่อง แต่ต้องขอใบอนุญาตแม้จะเป็นเพียงตัวอย่างเดียว ซึ่งอาจจะต้องมีการทดสอบในห้องปฏิบัติการ… เพราะถ้ามีใครเดินทางไปต่างประเทศและซื้อเราเตอร์เข้ามาต้องขอใบอนุญาต กสทช.
และฉันก็ได้โทรประสานงานกับหน่วยงาน กสทช. เพื่อหาทางว่ามีการยกเว้นสำหรับการรีวิว/ทดสอบ/พัฒนาซอฟต์แวร์หรือไม่ เพราะเราได้ทราบว่ามีมหาวิทยาลัยสามารถขอใบอนุญาต “การวิจัยและพัฒนา” การติดต่อเจ้าหน้าที่และได้รับคำแนะนำที่ไม่ชัดเจน เราจึงหาบริษัทขนส่งและขอใบเสนอราคาของใบอนุญาต กสทช. สำหรับ OpenWrt One จากบริษัทขนส่งได้ ราคาทั้งหมด: 22,000 บาท ไม่รวมค่าธรรมเนียมคลังสินค้าที่ศุลกากรกำหนด
ฉันจึงดำเนินการประสานงานขอใบอนุญาต กสทช. ได้ด้วยตัวเอง แบบออนไลน์โดยเริ่มจาก ลงทะเบียน SDoC โดยมีค่าธรรมเนียมประมาณหนึ่งพันกว่าบาท ซึ่งเป็นเพียงขึ้นตอนแรกเท่านั้น ฉันทราบคร่าวๆ ว่าจะต้องขอใบอนุญาตนำเข้า, ใบอนุญาตจำหน่าย, และใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม จากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ที่อาจจำเป็นสำหรับศุลกากร ฉันพยายามหลายๆ ครั้งในการถามขึ้นตอนจากเจ้าหน้าที่แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ฉันจึงตัดสินใจล้มเลิกไม่จ่ายค่าธรรมเนียม เพราะเมื่อเปรียบเทียบราคาของ OpenWrt One ขายอยู่ที่ $89 (ประมาณ 3,000฿) ซึ่งจะต้องขอใบอนุญาตอีกกี่ใบก็ไม่รู้และอาจจะมีราคาสูงเราเตอร์ แล้วยิ่ง GL.iNet Spitz Plus จะต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีก เนื่องจากรองรับ 4G LTE ซึ่งต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติม
แต่ทำไมถึงต้องเข้มงวดเรื่องใบอนุญาต กสทช. ขนาดนี้? คำตอบสั้น ๆ: แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังจากพูดคุยกับคนในเชียงใหม่ เราถึงได้เข้าใจว่าการบังคับใช้ใบอนุญาต กสทช. สำหรับเราเตอร์เข้มงวดขึ้นมากในช่วงหลัง แม้จะเป็นการนำเข้าเพียงเครื่องเดียวก็ตาม เนื่องจากมีข่าวเกี่ยวกับ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้เราเตอร์ใน พื้นที่ใกล้ชายแดนเมียนมา เพื่อหลอกลวงเหยื่อ วิธีนี้ทำให้การบังคับใช้กฎหมายทำได้ยากขึ้นมาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากตำรวจของไทย, เมียนมา และประเทศที่มีเหยื่อที่ถูกหลอกลวง ซึ่งต้องมีทนายความจากทุกประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง, ต้องแปลเอกสารเป็นหลายภาษา ทำให้กระบวนการล่าช้า และกลุ่มมิจฉาชีพก็มีเวลาหลบหนี มีกรณีโด่งดังที่เกี่ยวข้องกับ “ซิงซิง” นักแสดงชาวจีนหายตัวชายแดนไทย-เมียนมา แก๊งคอลเซ็นเตอร์จับตัวไปเป็นตัวประกันและเพิ่งได้รับการปล่อยตัว เรื่องนี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศจึงต้องมีมาตรการบางอย่างเกิดขึ้น
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับใบอนุญาต กสทช.? คำตอบง่ายมาก เมื่ออุปกรณ์ได้รับใบอนุญาต กสทช. จะต้องติดสติกเกอร์พร้อมหมายเลข กสทช. ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังบริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ได้ บนโทรศัพท์มือถือของผมมีสติกเกอร์นี้ และที่ด้านหลังทีวีก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผมสังเกตว่า เราเตอร์ที่บ้านของผมไม่มีสติกเกอร์นี้ อาจจะติดอยู่บนแผงวงจรภายใน หรืออาจถูกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ถอดออกก็เป็นไปได้
ดังนั้นเราเดาว่าแนวคิดก็คือ เมื่อตำรวจสามารถติดตามบริษัทที่จำหน่ายเราเตอร์ได้ ก็สามารถติดตามตัวบุคคลที่ซื้ออุปกรณ์นั้นได้เช่นกัน ซึ่งจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ สติกเกอร์หมายเลข กสทช. ไม่ถูกลอกออก เว้นแต่ว่าจะมีวิธีการติดตามอื่น ๆ ซ่อนอยู่… กสทช. ยังได้ดำเนินมาตรการอื่น ๆ เช่น กสทช.สั่งค่ายมือถือหันเสาสัญญาณเข้าฝั่งไทยเพื่อสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และตำรวจไซเบอร์จับขบวนการคอลเซนเตอร์ขับบรถยนต์ติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐานตระเวนส่งข้อความหลอกผู้เสียหาย ดังนั้นการรีวิวเราเตอร์บน CNX Software ก็เป็นเพียงผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการเหล่านี้เท่านั้น…
บริษัทขนส่งอย่าง DHL, FedEx และ UPS ทำงานร่วมกับศุลกากร ถ้าไม่มีใบอนุญาต กสทช. จึงไม่สามารถนำเข้าเราเตอร์เพื่อรีวิวได้ และค่าใช้จ่ายที่สูงมากทำให้ไม่คุ้มค่า แม้ว่าปกติจะมีช่องทางนำเข้าสินค้าผ่านบริษัทขนส่งขนาดเล็กที่มักใช้เส้นทางบกตามแนวชายแดน (การขนส่งสีเทา, grey shipping) แต่เราจะไม่เลือกใช้วิธีนั้น เนื่องจากรัฐบาลดูเหมือนจะเอาจริงและตำรวจไทยก็เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง นั่นหมายความว่าจะไม่มีรีวิวเราเตอร์บน CNX Software ต่อไป เว้นแต่ว่าผู้ผลิตจะมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศหรือเป็นผู้สนับสนุนค่าขอใบอนุญาต กสทช.
ที่มา : Importing a single router in Thailand now requires an NBTC license
บรรณาธิการข่าวและบทความภาษาไทย CNX Software ได้มีความสนใจในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Smart Home และ IoT