รีวิว SONOFF – BASICR4 Smart Switch และ S-MATE2 Smart Remote Control

Sonoff BasicR4 SMATE2 Cover

เราได้รับอุปกรณ์ใหม่มาอีกสองตัวจาก SONOFF สำหรับทดสอบ นั่นคือ BASICR4 Smart Switch และS-MATE2 Smart Remote Control หากใครที่เคยเล่น SONOFF มาอยู่บ้างคงต้องรู้จักตระกูล Basic แน่นอนเพราะเป็นตัวแรกๆที่ SONOFF เอามาทำตลาด Smart Home มันเป็น Wifi Switch ที่เอาไปใช้ได้หลากหลายมาก ตั้งแต่ ไฟแสงสว่าง พัดลม หรือ อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ คราวนี้เป็นรุ่น R4 ที่เพิ่มความสามารถมากขึ้นขณะที่ราคาถูกลง และอีกตัวคือ S-MATE2 ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ง่ายๆมันคือเป็น Remote Controller ที่ใช้แบตเตอรี่ และเอาไปเชื่อมต่อแบบไร้สายกับพวกอุปกรณ์ SONOFF ตัวอื่นที่มีความสามารถ eWelink Remote Gateway เพื่อสามารถไปสั่งอุปกรณ์อื่นๆใน ecosystems เดียวกัน ทำให้การเอาไปใช้งานได้หลากหลายขึ้น เรามาดูกันในรายละเอียดกัน

SONOFF BASICR4

Sonoff BasicR4 Intro

ตระกูล Basic เป็น Wifi Switch ที่มีมาช้านาน ช่วยให้เราสามารถควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าผ่าน eWeLink แอปหรือจะกดปุ่มเล็กๆบนตัวเครื่องก็ได้ มาใน BASICR4 นี้ก็เพิ่มความสามารถในการต่อกับสวิซต์ภายนอกได้ (สวิตซ์แบบกระดก) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ฟีเจอร์ที่  BASICR4 มีมากขึ้นกว่ารุ่นที่แล้ว คือ Magic Switch Mode, eWeLink Remote Gateway และ Auxiliary Overheat Protection นอกเหนือจากนั้นคือตัว โปรเซสเซอร์ที่เปลี่ยนจาก ESP8285 มาเป็น ESP32 ซึ่งจริงๆแล้วทาง SONOFF ก็ทยอยอัพเกรดอุปกรณ์ใหม่ด้วยโปรเซสเซอร์ตัวนี้มาเรื่อยๆ และแน่นอนเป็นส่ิงที่ถูกใจสำหรับสาวก DIY ทั้งหลายที่ชอบเปลี่ยน firmware เป็นแบบที่ตนเองชอบ เช่น Tasmota หรือ ESPhome เป็นต้น ดูจากตารางด้านล่างเพื่อเปรียบเทียบสเปคระหว่าง BasicR2 และ BASICR4

Sonoff BasicR4 BasicR2 Model Comparison

แกะกล่องดูภายใน BASICR4

Sonoff BasicR4 Inside2
Sonoff BasicR4 Inside1

เมื่อลองแกะข้างในดู (ไม่ต้องไขสกรูใดๆ) จะพบ PCB ซึ่งมีโปรเซสเซอร์ ESP32-C3 เป็นหัวใจการควบคุม และมีรู 3.3V, Tx, Rx, Gnd มาให้อย่างชัดเจน เปิดโอกาสให้การแฟลชพวก firmware อื่นๆทำได้อย่างสะดวกที่สุด สาวก DIY น่าจะชื่นชอบเป็นพิเศษ ตัว ESP32-C3 นั้นสนับสนุน Bluetooth 5 LE (ใช้พลังงานต่ำ) อีกด้วยซึ่งเป็นประโยชน์ในการ pairing กับ eWeLink แต่ถ้าแฟลช firmware ของ ESPhome จะทำให้เราใช้ R4 เป็น Bluetooth Proxy ซึ่งเป็นการเพิ่มระยะการทำงานของอุปกรณ์ Bluetooh ในบ้านได้อีกด้วย

สเปค

  • MCU ESP32-C3FN4
  • Input 100-240V ~ 50/60Hz Max 10A
  • Output 100-240V ~ 50/60Hz Max 10A
  • Max. power 2400W@240V Wireless
  • Connectivity Wi-Fi IEEE 802.11b/g/n 2.4GHz
  • Net weight 45.8g
  • Product dimension 88x39x24mm
  • Color White Casing material PC V0
  • Applicable place
  • Indoor Working temperature -10℃~40℃
  • Working humidity 10%~95% RH, non-condensing
  • Certification ISED/FCC/RoHS/ETL/CE/SRRC Executive standard EN IEC 60669-2-1, UL 60730-1, CSA E 60730-1

การทดสอบ

เราจะมาทดสอบการใช้งานผ่านแอปสองตัวเช่นเคย นั่นคือใช้แอปของ อุปกรณ์​SONOFF เองนั่นคือ eWeLink และ Home Assistant เราได้สอบถามทาง SONOFF ว่าตัวนี้มีแผนจะรองรับ Smart Platform อื่นๆอีกหรือไม่ มีความเป็นไปได้สูงว่าทาง SONOFF อาจจะเพิ่มฟีเจอร์ Matter ในอนาคตโดยผ่าน firmware upgrade ซึ่งทำให้ตัวมันเองสามารถใช้งานใน platform อื่นๆที่สนับสนุน Matter เช่น Google Home, Appple HomeKit หรือ Home Assistant ได้ตามรุ่นพี่ของมันก็คือ MiniR4M ที่เรารีวิวไปเมื่อเร็วๆนี้

เราได้โหลดแอป eWeLink 5.0.1 บน iOS17.0.1 ในการทดสอบ ซึ่งการเพิ่ม BASICR4 เข้าไปในแอปก็กดเครื่องหมาย + ด้านบนขวา แล้วเลือก Wifi Access Point ที่เป็น 2.4GHz ตัวแอปจะ scan อุปกรณ์ เหมือนเคยเราต้องกดปุ่มดำเล็กๆบนตัว BASICR4 ให้ไฟกระพริบเพื่อเข้าโหลด pairing  จากนั้นก็กดปุ่ม + ที่ตัวเลือก BASICR4 อีกครั้ง เราก็จะได้เห็น BASICR4 เข้าไปเป็นอุปกรณ์ใน eWeLink ในที่สุด

Sonoff BasicR4 eWeLink

เราขอข้ามการทดสอบฟีเจอร์พื้นฐานใน eWeLink ไป เช่น การตั้ง schedule, timer, inching, scene แต่สิ่งที่เราจะทำการทดสอบในการรีวิวนี้คือฟีเจอร์ใหม่ที่มีใน BASICR4 นั่นก็คือ eWeLink Remote Gateway และ Magic Switch Mode

Magic Switch Mode

มันคือการเพิ่ม External Switch เข้าไปเพื่อควบคุม BASICR4 ณ ตอนที่เราเขียนรีววิวนี้ External Switch ที่ BASICR4 สนับสนุนก็คือสวิตซ์สองทางแบบกระดก (Double Pole Rocker Switch) อันที่จริงผลิตภัณฑ์อื่นของ SONOFF ที่ต่อกับ External Switch ได้ก็มีหลายตัวเช่น Mini Extreme ซึ่งมันมีช่องในการเสียบสายไฟจาก External Switch(ผ่าน Hardware) มาให้ในตัวอุปกรณ์ (พอร์ต S1 และ S2) แต่ทว่าในตัว BASICR4 มันไม่มี S1 และ S2 ปรากฏ ซึ่งฟีเจอร์ Magic Switch Mode ก็จะมาช่วยตรงจุดนี้ (ผ่าน Software แทน) การต่อสายก็ทำตามภาพด้านล่าง ส่วนสวิตซ์ที่ทำงานกับแบบนี้คือสวิตซ์แบบกระดกสองทาง (Double Pole Rocker Switch)

Switch Mode Wiring

ภาพด้านล่างซ้ายคือภาพด้านหลังของสวิตซ์แบบสองทางที่เรานำมาทดลอง ซึ่งจะมี 3 ช่องให้เสียบสายไฟ (L, L1, L2) เราได้ทำการต่อสายไฟตาม diagram ด้านบนกับโคมไฟตั้งโต็ะที่นำมาทดสอบ สิ่งที่น่าสนใจคือ ต้องมีการ Short Circuit L1 และ L2 เข้าหากัน การทำแบบนี้ทำให้ไม่ว่าสวิตซ์จะกระดกไปทางไหนก็จะมีไฟไปเลี้ยง BASICR4 ตลอด เพื่อให้เราสามารถติดต่อกับอุปกรณ์ผ่าน Wifi ได้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่เราไม่แน่ใจว่ามันทำงานอย่าไรคือ BASICR4 รู้ได้อย่างไรว่าเรากดสวิตซ์ หรือว่านี่คือที่มาของคำว่า Magic ที่ทาง SONOFF ตั้งชื่อ 😉 และจากที่เราเห็นคำแนะนำการใช้งาน มันมีความเกี่ยวข้องกับ Power-on state โดยตรง

หากผู้อ่านท่านใดพอจะรู้ trick ของวิธีนี้ก็แสดงความคิดเห็นมาได้เลย

Sonoff BasicR4 Magic Switch Mode

ก่อนที่ฟีเจอร์นี้จะทำงานได้ก็ต้องมีการเปิดการใช้งานของ Magic Switch Mode ก่อนตามรูป

Magic Switch Setting

เราได้ทำการทดสอบและพบว่าทำงานได้ตามคาด ดูเหมือน Magic Switch Mode ก็ทำให้ BASICR4 ดูแตกต่างขึ้นมาทันที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทาง SONOFF ได้ระบุข้อจำกัดมาให้ด้วยนั่นคือฟีเจอร์นี้ใช้กับหลอดไฟ LED ที่กินไฟในช่วง 3w-100w

ฟีเจอร์นี้ไม่ได้ใหม่สักทีเดียว มันมีมาในหลายผลิตภัฑณ์ของ SONOFF เช่น DualR3, MiniR4, SwitchMan M5, NSPanel Pro, S40 smart plug, Tx Ultimate ดูรายละเอียดของแต่ละตัวเพิ่มเติมที่นี่ แต่การที่ BASICR4 สนับสนุน eWeLink Remote Gateway ทำให้เรามี Remote Gateway ในราคาที่ถูกที่สุดเพื่อให้สามารถวางกระจายไว้รอบบ้าน

หน้าที่หลักๆของ eWeLink Remote Gateway ก็คือ

1) เป็นตัว GateWay ให้กับ eWeLink Remote Subdevice เพื่อเชื่อมต่อกับ Wifi  ออกไปสู่ eWeLink cloud ซึ่งทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆผ่าน “Smart Scene

2) เป็น Local Gateway เพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์ที่สนับสนุน eWeLink Remote Gateway เมื่อใดที่อินเตอร์เน็ตใช้การไม่ได้ ผู้ที่ใช้ Remote Controller เช่น S-MATE2 สามารถสั่งการโดยผ่าน Local Scene ได้

การใช้งานเราจะต้องมีตัว eWeLink Remote SubDevice (เรียกง่ายๆว่า Remote Controller) มาเชื่อมต่อผ่านพวก eWeLink Remote Gateway นี่อีกที ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เป็น eWeLink Remote SubDevice หลายตัว เช่น R5 และ SMATE-2 ซึ่งตัวหลังเราจะกล่าวถึงต่อไปในหัวข้อถัดไป การเชื่อมต่อระหว่าง SubDevice และ Gateway จะทำผ่านโปรโตคอล Bluetooth ที่เป็นเวอร์ชั่นพิเศษของ SONOFF ทำให้ได้ระยะไกลเกือบๆ 50m ดูภาพประกอบด้านล่าง

ewelink remote gateway

ดูๆไปมันก็คล้ายๆกับโปรโตคอล Zigbee ตรงที่ต้องมีตัวรับสัญญาณ (Gateway) ใกล้ๆ แต่ของ SONOFF จะผ่าน Bluetooth แบบพิเศษ หรือ ถ้าจะให้มองในอีกมุมนึงก็คือหลักการทำงานก็คล้ายกับพวก RF Control 433MHz เหมือนกันแต่ดีกว่าตรงที่ระยะทางไกลกว่าหลายๆเท่าเลยทีเดียว ปัจจุบัน 1 อุปกรณ์ของ eWeLink Remote Gateway อย่างเช่น BASICR4 สามารถต่อ Subdevice (Remote Controller) ได้ถึง 8 อุปกรณ์ซึ่งมันก็เหลือเฟือสำหรับ Smart Home และเราได้ทำการทดสอบฟีเจอร์นี้กับ S-MATE2  ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวในหัวข้อ S-MATE2 ด้านล่าง

การทำงานร่วมกับ Home Assistant

และแน่นอนที่เราต้องทำการทดสอบกับ Home Assistant เช่นเคย เราได้ใช้ HA Core เวอร์ชั่น 2023.11.2  บน Rasberry Pi4B โดยผ่าน Integration ของ AlexxIT/SonoffLAN v3.5  ณ วันที่เราทดสอบ BASICR4 ยังไม่ได้ทดสอบอย่างเป็นทางการกับ Integration นี้ อย่างไรก็ตามเราคาดว่าคงจะเร็วๆนี้ สิ่งที่เราได้เห็นใน Home Assistant หลังจากเพิ่ม BASICR4 เข้าไปคือปุ่มเปิดปิดแค่นั้น ต่างจากที่เราเห็นใน BasicR2 หรือ RF2 ซึ่งเราได้เห็นพวก Inching, Inching Duration ด้วย ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะมีอะไรเพิ่มมาหลังจากการอัพเดตในเวอร์ชั่นถัดไป

Sonoff BasicR4 Home Assistant

SONOFF S-MATE Extreme Switch Mate (S-MATE2)

Sonoff SMATE2 Cover

S-MATE2 เป็น eWeLink Remote Subdevice (ง่ายๆคือ Remote Controller) ที่ใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว ทำงานร่วมกับ eWeLink Gateway ผ่านโปรโตคอล Bluetooth แบบพิเศษ  เจ้า S-MATE2 เป็นรุ่นที่2 ใช้ลิเธียมแบตเตอรี่ (CR2477@1000mAh) มีความจุมากกว่ารุ่นเดิม S-MATE (CR2032@225mAh) กว่า 5 เท่าและมีขนาดเล็กกว่าในทุกมิติ อีกสิ่งนึงที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ S-MATE2 ไม่มีทางเลือกให้ต่อไฟ AC เหมือนอย่างรุ่นพี่ S-MATE คือให้ใช้แบตเตอรรี่อย่างเดียว ทาง SONOFF เคลมว่าแบตสามารถใช้งานได้ถึง 5 ปีทีเดียว เราคิดว่าการออกแบบใหม่นี้เหมาะสมกว่ารุ่นเดิมเพราะมันสะดวกกว่า มันจะดีกว่าแน่นอนถ้าเอาไปใช้ในสถานที่ๆการลากสาย AC ไปไม่ถึง หรือสาเหตุอื่นๆเช่น ใช้ในกลางแจ้งเป็นต้น และน่าจะเป็นอีกเหตุผลนึงว่าทำไม S-MATE2 มีขนาดเล็กลงอีกด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับใส่ไว้ใน box หลังสวิตซ์ไฟ

Unbox SMATE-2

Sonoff SMATE2 Unbox

S-MATE2 มีพื้นที่หน้าตัดเล็กกว่า S-MATE กว่า 30% และบางกว่า 25%  แต่ก็ยังใหญ่กว่า SONOFF MiniR4 อยู่เล็กน้อย จากที่เราเคยพยายามยัด MiniR4 ในบล็อคไฟที่แคบๆมาแล้ว มันทำให้เราสงสัยว่า S-MATE2 จะใส่เข้าไปได้มั้ย อย่างไรก็ตามทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับบล็อคไฟของแต่ละบ้าน ตัว S-MATE2 มีช่องอยู่ 6 ช่อง (สามชุด) สามารถต่อกับสวิตซ์ได้ 3 ปุ่ม (3 gang) ถ้าหากเราต้องการเอามันไปควบคุมไฟสามจุดก็จะประหยัดเนื้อที่และงบประมาณหากต้องไปซื้อปุ่มเดี่ยวๆสามตัว หรือ ถ้าเทียบกับ eWeLink Remote Subdevice ตัวอื่นๆเช่น R5 ดูแล้ว SMATE-2 มันเหมาะกับถ้าเอาไปใช้กับสวิตซ์เดิมที่มีอยู่ในบ้าน ซึ่งให้ความรู้สึกเดิมๆได้ขณะที่มีฟังก์ชั่น Smart Home เข้าไป

อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แบตเตอรี่เปลี่ยนมาใช้แบบความจุสูง CR2477 (1000mAh) ทำให้ใช้งานได้นาน เราคงไม่มีโอกาสทดสอบ และจากในแอป eWeLink ก็ไม่มีบอกเรื่องสถานะของแบตเตอรรี่ ซึ่งมันควรจะมี

ด้านข้างมีปุ่มเล็ก (DIP switch) ให้เราปรับเพื่อให้ใช้งานกับชนิด external switch ที่เรานำมาต่อ ทั้งแบบสวิตซ์กระดก (Rocker Switch) หรือ สวิตซ์กดปล่อย (Momentary Switch)

สเปค

Model: S-MATE2

Input: 3V 

Battery model: CR2477 (1,000mAh)

Channel: 1/2/3

Color: White

Casing material: ABS

Dimension: 40.3×37.4×18.3mm

การใช้งาน

การเริ่มใช้งาน S-MATE2 ต้องเข้าไปทำในแอป eWeLink เท่านั้นเพราะฟีเจอร์นี้ออกแบบมาสำหรับ SONOFF โดยเฉพาะ เริ่มจากเปิดแอป eWeLink และเลือกเข้าไปที่อุปกรณ์ eWeLink Gateway ที่เราจะ pair มัน เสร็จแล้วกดปุ่มสวิซต์ที่ต่ออยู่กับ S-MATE2 เพื่อส่งสัญญาณไปที่ Gateway ก็เป็นอันเสร็จพิธี ในการทดสอบเราได้ ทดลองกับ Gateway หลายตัวเลย เช่น BASICR4, Smart Plug S40 และ DualR3 ภาพด้านล่างเป็นการตั้งค่ากับ BASICR4

Sonoff SMATE2 Setup

หลังจากนั้นเราก็สามารถสร้าง Scene (Automation) ใน eWeLink เพื่อมาทำงานร่วมกับ S-MATE2 เราได้ทำการทดสอบแบบง่ายๆกับโคมไฟตั้งโต็ะตามรูป สวิตซ์แบบกระดกได้ต่อที่ Channel 1 ของ S-MATE2 และ Scene ได้กำหนดเงื่อนไขว่าถ้า Channel 1 โดนกดจะไปเปิด BASICR4 ให้ทำงาน รวมถึงส่ง Notification ด้วย

Sonoff SMATE2 Automation Demo

นอกเหนือจากนี้เราก็ได้ทำการทดสอบระยะห่าง (range) S-MATE2 กับ BASICR4 ซึ่งเป็นหนึ่งใน eWelink Gateway  สถานที่ที่ทดสอบคือภายในฟาร์มขนาดเล็กโดยอุปกรณ์ BASICR4 อยู่ใน Office และเราเดินถือ S-MATE2 ที่ต่อกับสวิตซ์กระดก(Rocker Switch ) ห่างออกไปเรื่อยโดยมีกำแพงหนึ่งชั้นของ Office เป็นตัวคั่น ปรากฏว่าได้ระยะประมาณ​ 38m ซึ่งก็สมเหตุสมผลกับการมีกำแพง 1 ชั้น v.s ข้อมูลที่ทาง SONOFF เคลมว่าได้ถึง 50m โดยที่ไม่มีอะไรกีดขวาง ถ้าคิดในบริบทของ Smart Home ระยะเกือบๆ 40m ก็ถือว่าใช้ได้ (ยกเว้นบ้านคุณมีบริเวณกว้างใหญ่มากๆ) อย่าลืมว่าเราสามารถมีอุปกรณ์ eWeLink Gateway วางไว้ได้ทั่วบ้าน ง่ายที่สุดน่าจะเป็น Smart Plug หรือ Smart Switch ดังนั้นระยะทางน่าจะครอบคลุมบ้านที่พักอาศัยอย่างไม่ยากถ้าวางแผนดีๆ

การใช้งานกับ Home Assistant

เราได้ทำการทดสอบ S-MATE2 กับ Home Assistant ด้วยอีกเหมือนกัน แน่นอนมันไม่ใช่ Zigbee หรือ Wifi ทั่วไป แต่เป็นอุปกรณ์เฉพาะที่ทำงานผ่าน Bluetooth แบบพิเศษ ดังนั้นหากต้องการเอาเข้า Home Assistant จะต้องลงทะเบียนอุปกรณ์ผ่าน eWeLink เสียก่อน (ตามขั้นตอนด้านบน) เสร็จแล้วให้ทำการรีโหลด AlexxIT SonoffLAN integration ใหม่อีกครั้ง หรือ จะรีบูท Home Assistant ก็ได้ หลังจากนั้นเราจะเห็น S-MATE2 ปรากฏอยู่ในส่วน SONOFF  พร้อมใช้ ให้เข้าไปที่อุปกรณ์นี้ สังเกตุว่าไม่มีข้อมูลอะไรมากมายนอกจากเซ็นเซอร์ตัวเดียว (ดูรูปด้านล่าง) สิ่งที่เราต้องนำไปใช้สร้าง Automation คือ state changed ซึ่งอยู่ด้านขวาที่ Logbook ลองกดปุ่มที่สวิตซ์กระดกเพื่อให้ state เปลี่ยนแปลง ให้จำชื่อของ state changed ของอุปกรณ์ S-MATE2 ซึ่งก็คือ “button_1_single” เพราะว่าเราต่อสวิตซ์กับ channel 1 นั่นเอง

SonoffS MATE2 HomeAssistant Demo2

จากนั้นเราได้ลองสร้าง  Automation  โดยมี trigger ถ้า state changed  ของ  S-MATE2 เปลี่ยนเป็น  “button_1_single” ถ้ามีการกดก็ให้ส่ง Notification ไปที่มือถือที่ลง Home Assistant Companion App เป็นต้น

Home Assistant Demo

เราคิดว่า Use Case มันมีได้มากมายกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานกับกริ่งหน้าบ้าน การเอาไปต่อกับพวก reed switch เอาไว้ทำ door sensor และสามารถเอาไปใช้ในบริเวณกลางแจ้งซึ่งทำงานร่วมกับ tranditional switch ที่ทนแดดทนฝนมาที่  S-MATE2 ถ้าเป็นคุณลองคิดว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้แบบไหนได้มากกว่านี้ แสดงความคิดเห็นมาได้เลย

บทสรุป SONOFF BASICR4 และ S-MATE2

มันเป็นอัพเกรดที่ไม่เลวทีเดียวของทั้งสองตัว มีทั้งการปรับปรุงและเพิ่มฟีเจอร์ที่สำคัญเข้ามา ตัว BASICR4 มีราคาที่ถูกลง ขณะที่ S-MATE2 สามารถใช้งานได้นานขึ้นหลายเท่าตัว

ตระกูล Basic ขึ้นชื่อในเรื่องของความทนทานในราคาที่จับต้องได้ แต่คุณต้องใช้มันให้ถูกต้องตามสเปคด้วยนะ หลายๆครั้งที่อุปกรณ์เสียหายเพราะผู้ใช้คิดว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่น่าจะใช้ไฟเกินที่กำหนดของสเปค ฟีเจอร์ Auxilairy Overheat Protection ใหม่ใน BASICR4 ก็จะมาช่วยเพิ่มความปลอดภัยตรงจุดนี้ และเราก็ชอบ BASICR4 ในเรื่องของ Remote Gateway และ Magic Switch Mode โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gateway ที่ทำให้การใช้งานได้หลากหลายขึ้น แต่เราก็อยากเห็นมันมาพร้อมๆกับ Matter ด้วย

S-MATE2 เป็นไอเดียที่ดีที่สร้างความสะดวก ถ้าหากมีการวาง eWeLink Gateway ให้ครอบคลุมบ้าน S-MATE2 น่าจะใข้งานได้ดีทีเดียว เราชอบแนวคิดที่เรายังคงใช้สวิตซ์ดั่งเดิมอยู่ได้โดยซ่อน S-MATE2 อยู่ข้างหลังแถมสนับสนุนสวิตซ์ต่อเชื่อมได้ถึงสามชุด ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าบล็อคไฟของบ้านใครที่ใหญ่พอจะยัดตัวนี้เข้าไปได้ เรายังอยากเห็นขนาดที่เล็กกว่านี้ (เท่ากันหรือเล็กกว่า Extreme Mini R4) เพื่อให้การติดตั้งได้สะดวกขึ้น

เราขอขอบคุณ ITEAD ที่ส่ง SONOFF BASICR4 และ S-MATE2 มาให้ตรวจสอบ สามารถซื้อ BASICR4 ได้ในราคา $4.85(~170฿) และ S-MATE2 ราคา 7.49(~260฿) คุณสามารถใช้คูปอง CNXSOFTSONOFF เพื่อรับส่วนลด 10% และมีโปรโมชัน Black Friday/Cyber ​​Monday ที่มีจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม

FacebookTwitterLineEmailShare

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

โฆษณา
โฆษณา