รีวิว ซิงเกิ้ลบอร์ด YY3568 : แกะกล่อง ดูสเปค และทดลองใช้งานบน Android 11

บริษัท youyeetoo ได้ส่งบอร์ด YY3568 ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก chip Rockchip RK3568 ที่ความเจ๋งคือ NPU และการเชื่อมต่อที่มีให้เลือกมากมาย เอาล่ะเรามาเริ่มแกะกล่องทำความรู้จักความน่าใช้งานของมันเลยดีกว่า

แกะกล่อง

YY3568 Rockchip RK3568 package

บอร์ด YY3568 เป็นซิงเกิ้ลบอร์ด จากบริษัท youyeetoo ซึ่งจากรูปลักษณ์แล้วถือว่าบอร์ดออกแบบมาตอบโจทย์ของนักพัฒนาจะตอบโจทย์ยังไงเรามาดูรูปแกะกล่องไปด้วยกันเลยดีกว่า จากรูปด้านล่างเราจะเห็นว่าชุดบอร์ดจะประกอบด้วยบอร์ด Backplane และ บอร์ด YY3568-Core ซึ่งตัว core board ก็จะมีหลายรุ่นให้เลือกที่ขนาดของ eMMC และ  RAM ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบอร์ดที่ได้นำมารีวีวนี้จะมีสเปคเป็น eMMC 64GB และ RAM ขนาด 8G ซึ่งจะพบว่าให้ความจุเพื่อเก็บข้อมูลที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว RAM ขนาด 8GB ก็สามารถนำมาใช้งานกับแอพพลิเคชั่นได้ครอบคลุมตั้งแต่การใช้งานทั่วไป การเล่นวิดีโอ ไปจนถึงงาน AI เลยนะครับ

YY3568 unboxing top view

รูปด้านบนของบอร์ด YY3568

YY3568 unboxing bottom view

รูปด้านหลังของบอร์ด YY3568

YY3568 unboxing with accessories

รูปอุปกรณ์ในชุดเบื้องต้นยังไม่รวมอุปกรณ์เสริม

ภาพรวมฮาร์ดแวร์

บอร์ด YY3568 เป็นบอร์ดที่ใช้ชิปประมวลผล RK3568 จากบริษัท Rockchip โดยเป็นสถาปัตยกรรม ARM  Cortex-A55  64บิต จำนวน 4 คอร์ ที่มีสัญญาณนาฬิกาความเร็ว 2.0 GHz พร้อมด้วย NPU ประสิทธิภาพในการประมวลผลอยู่ที่ 1 TOPS  พร้อม GPU แบบดูอัลคอร์ Mali-G52 ที่มาพร้อมกับการเชื่อมต่อที่ค่อนข้างครอบคลุมกับความต้องการในการใช้งานทั่วไป เพราะไม่ได้ให้มาแค่ GPIO และ SD Card เท่านั้น แต่ให้มาอีกจุใจ  เรามาดูกันว่ารองรับการเชื่อมต่ออะไรบ้าง

board io detail top side

board io detail bottom side

การเชื่อมต่อ

Serial x 5 I2C x 2 CAN x 1
GPIO x 30 ADC x 4 PCIe 3.0 x 1
SATA 3.0 x 1 USB 3.0 x 2 USB 2.0 x 2
MIPI CSI x 1 MIPI DSI x 2 eDP x 1
HDMI x 1 Gigabit Ethernet x 2 WiFi (5GHz, 2.4GHz)+ Bluetooth x 1

อุปกรณ์เสริม

ในชุดอุปกรณ์เสริมของบอร์ด youyeetoo มีอุปกรณ์เสริมให้ใช้งานเพื่อการทดสอบการทำงานได้หลากหลาย โดยในรีวิวนี้ได้รับมาทดลองดังนี้

  1. จอภาพ 11.6″ eDP พร้อม Capacitive touch
  2. PCI-E Wi-Fi + Bluetooth
  3.  กล้อง MIPI CSI
YY3568 camera module
อุปกรณ์เสริม YY3568 Camera กล้องความละเอียด 8 ล้าน pixels
YY3568 wifi/bluetooth module
อุปกรณ์เสริม โมดูล Wi-Fi / Bluetooth

และนอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์เสริมอีกจำนวนหนึ่งที่สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ wiki youyeetoo

วิธีการการติดตั้ง Image

บอร์ด YY3568 รองรับการใช้งานทั้ง Android และ Linux โดยสามารถทำการดาวนโหลดได้จากลิ้งค์ดังนี้ Image สำหรับ Android 11 และ Image สำหรับ Linux (Debian 10) โดยบอร์ด YY3568 นั้นสามารถติดตั้งระบบปฎิบัติการลงไปยังบอร์ดได้ 2 แบบคือติดตั้งลง eMMC และ SD card โดยใช้วิธีการในการติดตั้งต่างกันดังนี้

  • ติดตั้งลง  SD card หากต้องการติดตั้ง Image ลงบน SD card สามารถทำได้ผ่านโปรแกรม SDDiskTool หลักจากติดตั้งโปรแกรมแล้วสามารถเริ่มต้นใช้งานโปรแกรมเพื่อเขียน Image ลง SD card ดังนี้ โดยอย่าลืมทำเครื่องหมายถูกที่ช่อง SD Boot เพื่อให้มีการติดตั้ง boot loader ด้วยนะครับ

flash scdard

การ flash SD card ด้วยโปรแกรม SDDiskTool

  • ติดตั้งลง eMMC หากต้องการติดตั้งลง eMMC สามารถทำได้โดยการเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านสาย USB โดยจำเป็นต้องทำการติดตั้ง ไดรเวอร์และโปรแกรมต่าง ๆ ดังนี้ ติดตั้ง RK USB Driver โดย และติดตั้งโปรแกรม RKDevTool

flash firmware

รูปหน้าตาของโปรแกรม RKDevTool

จากนั้นทำการต่อสาย USB Type-A ที่ได้มาในชุดระหว่างคอมพิวเตอร์และที่ USB port ของ บอร์ด YY3568 ช่อง USB3.0 สีฟ้าช่องด้านล่างสุด จากนั้นทำการกดปุ่ม recovery(ซ้ายล่างของรูป) และจ่ายไฟให้กับบอร์ดเพื่อให้บูตเข้า recovery mode รอประมาณ 3 วินาทีจึงทำการปล่อยปุ่ม จากนั้นเปิดโปรแกรม RKDevTool  เพื่อทำการเขียน firmware ได้เลย

YY3568 USB OTG for firmware update

ทดลองใช้งานบน Android

เราจะเริ่มต้นจากการทดลองใช้งาน  Android 11 ลงบนบอร์ด YY3568  โดยเมื่อเข้าไปยังหน้าดาวน์โหลดจะพบกับ image ไฟล์จำนวนมาก ซึ่งเราจะต้องทำการเลือกให้ตรงกับการใช้งานของเรา เช่นต้องการใช้งานกับหน้าจอ eDP และใช้ Wi-Fi ให้เลือกดาวน์โหลด ไฟล์ YY3568-Android11-wifi-edp-2023-1-16.img ทำการต่อสาย USB และให้บอร์ดเข้าสู่ recovery mode เพื่อรอการติดตั้ง Image

การติดตั้ง Image

เมื่อทำการเปิดโปรแกรม RKDevTool ขั้นมาครั้งแรกเราจะพบว่าการแสดงผลของโปรแกรมเป็นภาษาจีน ให้ทำการปิดโปรแกรมและไปยังโฟลเดอร์ที่เก็บโปรแกรมและเปิดไฟล์ config.ini ขั้นมาแก้ไขบรรทัดที่ 4  จาก selected = 1 เป็น selected =2 ทำการเซฟไฟล์ config.ini และเปิดโปรแกรม RKDevTool อีกครั้งและเลือกไปที่แท็ป Upgrade firmware คลิ้กที่ปุ่ม firmware ทำการเลือกไฟล์ image ที่ดาวน์โหลดมา จากนั้นทำการคลิ้กที่ upgrade

select android image
รูปแสดงการเลือก Android image สำหรับใช้งานกับหน้าจอ eDP
Flash android image using RKDevTool
ภาพแสดงหน้าโปรแกรม  RKDevTool ในการติดตั้ง Android Image

ตรวจสอบคุณสมบัติ

หลังจากติดตั้ง Image เรียบร้อยแล้วเราจะต้องทำการกด reset ที่บอร์ดเพื่อให้บอร์ดเริ่มทำงานบูตทำงานซึ่งจะแสดง boot screen  ที่หน้าจอภาพ 11.6″ หากไม่มีการแสดงผลหน้าจอมืดไปเลย แปลว่าเราอาจเลือก firmware มาผิดเป็นรุ่นที่ไม่ส่งภาพมายัง port eDP ก็ตรวจสอบ image ตรวจสอบสายให้ดีแล้วลองใหมนะครับ

ใช้เวลารอไม่นานก็แสดงหน้าใช้งานของ Android 11  ขึ้นมาทดลองใช้งาน touch screen ดูก็พบความหน่วงเล็กน้อย แต่ไม่ได้มากจนรู้สึกหงุดหงิด ทดลองตั้งค่า Wi-Fi ก็พบว่าสามารถ scan หาเครือข่ายได้ทั้ง 2.4GHz และ 5GHz

Android launcher

ซึ่งเราจะต้องทำการติดตั้ง  ADB เพื่อให้สามารถทำการ remote access เข้าไปยังบอร์ดเพื่อติดตั้งโปรแกรมได้ เนื่องจาก Image Android ที่ติดตั้งไม่มี Google service ติดตั้งมาให้เราจึงไม่สามารถใช้งาน Play store ได้ ดาวน์โหลด ADB จากนั้นทำการติดตั้งโปรแกรม CPU-Z เพื่อดูค่าคุณสมบัติของบอร์ด adb install cpu-z_1.07.apk ทำการเปิดโปรแกรม CPU-Z เพื่อตรวจสอบค่าคุณสมบัติเบื้องต้นเจอเป็น RK3066 ซึ่งไม่ถูกต้องและค่าอื่น ๆ ดังนี้

CPU Z chip info
หน้าแสดงคุณสมบัติของ SoC เแสดงค่าทั้ง CPU ไม่ถูกต้องแต่ GPU ตรงตามสเปค
CPU Z system info
รูปแสดงข้อมูลระบบของบอร์ด ข้อมูล RAM และ eMMC ความจุถูกต้อง

ทดสอบการใช้งานทั่วไป

หลังจากลง CPU-Z ไปแล้ว ผมก็นึกขึ้นได้ว่าน่าจะลง APKPure ไปเลยดีกว่า ก็เลยลงแล้วค่อย ๆ ติดตั้งโปรแกรมเพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ กัน

โดยในการทดสอบประสิทธิภาพทั่วไปทำผ่าน Antutu ซึ่ง Antutu แจ้งว่า RK3068 ไม่รองรับเลยทดสอบแค่ Disk Speed  แล้วย้ายไปทดสอบบน Passmark PerformanceTest  ซึ่งสามารถทดสอบให้ได้ไม่มีปัญหา ค่าผลการทดสอบแสดงอยู่ในรูปด้านล่าง

cpu test disk test
graphic test ram test

ทดสอบประสิทธิภาพการถอดรหัสวิดีโอ

ในการทดสอบจะทดสอบการถอดรหัสวิดีโอทั้ง H.264 และ H.265 โดยใช้ไฟล์ยอดนิยมอย่าง Big Buck Bunny มาทดสอบดูในเบื้องต้น โดยทดสอบผ่าน VLC โดยเปิดโหมด Hardware Acceleration Decoding ก็พบว่าทำงานได้ลื่นไหลไม่มี frame drop หรืออาการกระตุกให้เห็นแต่อย่างใด

GPU video encode h264
รูปแสดงการทำลองเล่นไฟล์ความละเอียด 1920×1080@30FPS ด้วยไฟล์ H.264
GPU video encode h265
รูปแสดงการทำลองเล่นไฟล์ความละเอียด 1920×1080@30FPS ด้วยไฟล์ H.265

ทดสอบประสิทธิภาพ 3D

ในการทดสอบประสิทธิภาพของ GPU จะทำการทดสอบด้วย 3DMark  โดยทดสอบทั้ง Wild Life และ Sling Shot Extreme ซึ่งผลทดสอบออกมาก็ค่อนข้างที่จะตัวเลขต่ำไปซักเล็กน้อย คิดว่าเกิดจาก Thermal throttling เพราะการระบายความร้อนจาก SoC ทำเพียงแค่ heatsink ระบายความร้อนที่มาในชุดเท่านั้น

3dmark slingshort extream

คะแนนของ Sling Shot Extreme ทำได้ 564

3dmark test

3dmark wildlife

คะแนนทดสอบของ Wild Life อยู่ที่ 282

ทดสอบประสิทธิภาพเครือข่าย

เราทดสอบประสิทธิภาพเครือข่ายแบบง่ายๆ ด้วยการใช้ youtube เล่นไฟล์ความละเอียดสูงเพื่อดู Connection speed ซึ่งจะเห็นว่าค่า connection speed ของ Wi-Fi ช้ากว่ามากถึงแม้จะต่อกับเครือข่าย 5GHz และได้ค่า Connection speed ใน system ที่สูงก็ตามและทดสอบซ้ำด้วยโปรแกรมทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต  Ookla

Wi-Fi  

wifi link speed

Android Network details แสดงความเร็วของ Wi-Fi อยู่ที่ 867Mbps

Test4k with wifi

connection speed เฉลี่ยอยู่ที่ 1/3 ของ Ethernet

 

YY3568 full accessories

ทดลองทดสอบความเร็ว Internet ผ่าน Wi-Fi

LAN

Test4k with ethernet

ทดสอบเล่นไฟล์  4K บน youtube ค่า Connection Speed อยู่ที่ ~ 90Mbps

ookla ethernet test

ทดลองทดสอบความเร็ว Internet ผ่าน Ethernet

สรุปการทดสอบ

จากการทดลองใช้มากว่า 2 สัปดาห์เปิดดูความทนทานทั้งในห้องแอร์และห้องปกติพบว่าถ้าอุณหภูมิภายนอกร้อนมาก ๆ พบว่าบอร์ดหยุดการทำงานบ้าง แสดงให้เห็นว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการระบายความร้อนให้กับบอร์ด YY3568 พอสมควร หากต้องใช้งานในสภาวะแวดล้อมปกติควรติดตั้งพัดลงระบายความร้อนลงไป แต่ถ้าอยู่ในห้องแอร์ไม่พบปัญหาการหยุดทำงาน โดยลักษณะการใช้งานจะเป็นการเปิดใช้งาน Internet เล่นไฟล์จาก youtube ทดลองเปิดไฟล์วิดีโอด้วย VLC สามารถใช้งานได้ดีไม่พบปัญหาใด ๆ การทดสอบอุปกรณ์เสริมคือจอภาพ จอภาพดีมากให้มุมมองที่กว้างเพราะเป็นจอ IPS และมาพร้อม Capacitive touch แบบ 10 จุดเลยทีเดียว

YY3568 touch creen 10 point
การทดสอบYY3568 capacitive touch  screen รองรับการสัมผัส 10 จุด

จะมีเพียงกล้องความละเอียด  8 ล้าน pixel ที่ทดสอบดูแล้วพบว่า ratio ของกล้องไม่สัมพันธ์กับจอทำให้ภาพที่ได้สัดส่วนไม่ถูกต้องซึ่งยังหาวิธีปรับแต่งไม่ได้ แต่ถ้าไม่นับเรื่องนี้กล้องชัดเจนดีมากและมาพร้อมกับระบบ auto focus ที่ดีเลยล่ะ

camera photo
รูปที่ถ่ายจาก camera module
screen display wrong ratio
ภาพที่แสดงบนหน้าจอผิดสัดส่วน

หากถามว่าบอร์ดนี้เอาไปใช้ทำต้นแบบอะไรดี สำหรับผู้เขียนถ้าจะเอาไปใช้งานทำพวก Kiosk หรือ vending machine เหมาะสมมาก เพราะดูจากจำนวน serial พอร์ตที่ให้มาเราสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกพวกเครื่องรับเหรียญ รับธนบัตร ตัวควบคุมกลไกต่าง ๆ ได้สะดวก พร้อมการต่อจอที่ยืดหยุ่นมาก เราสามารถต่อ HDMI,DSI หรือ eDP ได้หมดทำให้สามารถใช้งานกับจอต่าง ๆ ได้สะดวกมาก ซึ่งเราสามารถ production ได้เลยถ้าได้ solution ที่ต้องการทั้งหมดแล้วเพราะ youyeetoo จำหน่ายแยกเฉพาะ core board ทำให้เราสามารถออกแบบ Backplane  ได้เอง

ซึ่งในบทความลำดับต่อไปจะเป็นการทดสอบใช้งานบอร์ด YY3568  บน Linux  Debian 10 พร้อมกับทดสอบความสามารถของ NPU ของ บอร์ด YY3568 ด้วย RKNPU2 กัน และสำหรับคนที่สนใจบอร์ดเจ้าบอร์ดนี้ สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ wiki youyeetoo และหาซื้อได้จาก Aliexpress ราคาเริ่มต้นที่ 1,390฿, Amazon, หรือ ร้านค้าของบริษัท

ทางผู้เขียนต้องขอขอบคุณบริษัท  youyeetoo มากที่ได้พัฒนาบอร์ดทางเลือกดี ๆ การเชื่อมต่อครบ ๆ และที่จะอดเอ่ยปากชมเชยไม่ได้เลยคือเอกสารดีมาก ๆ มาให้นักพัฒนาได้ทดลองใช้งานกัน

FacebookTwitterLineEmailShare

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

โฆษณา
โฆษณา